ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี โดนภาษีย้อนหลัง เป็นเพราะอะไร?

ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี โดนภาษีย้อนหลัง เป็นเพราะอะไร?

ตอบคำถาม.. ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี เสียค่าเปอร์เซ็นต์และภาษี​หัก ณ​ ที่จ่ายแล้ว​ ทำไมยังโดนภาษีย้อนหลัง?

รายได้จากการขายอาหารเดลิเวอรีโดยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Grab , LINE MAN , Food panda โดยธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป เมื่อผู้ซื้ออาหารชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มแล้ว เจ้าของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มนั้นๆ จะทำการหักเปอร์เซ็นต์ หรือค่าใช้บริการจากผู้ขายประมาณ 30% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแพลตฟอร์ม ก่อนโอนเงินค่าอาหารให้กับผู้ขาย

นอกจากนี้หากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดโปรโมชั่น โดยให้ผู้ขายแนะนำผู้ขายอื่นเข้าร่วมโครงการ ก็จะได้ค่านายหน้าพร้อมกับถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้ขายแทบจะทั้งหมดจึงมักเข้าใจว่าตนเองได้ทำหน้าที่ผู้เสียภาษีเรียบร้อยแล้ว และไม่ได้ยื่นภาษีประจำปี จนหลายรายถูกตรวจสอบและต้องเสียภาษีย้อนหลังเป็นมูลค่าสูง

แต่ความจริงแล้ว  ไม่ว่าผู้ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีต่างๆ  จะมีรายได้ กำไร ขาดทุนเท่าไหร่ จ่ายค่าเปอร์เซ็นต์ (ค่าบริการ) หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็ต้องยื่นภาษีทุกปีถ้ามีรายได้เกิน 60,000 บาท

แต่จะต้องเสียภาษีเพิ่มหรือไม่ เสียเพิ่มเท่าไหร่ หรืออาจได้คืน ก็ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิ หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วนำไปเปรียบเทียบตารางภาษีก้าวหน้า

ดังนั้น วันนี้ไปค้นหาคำตอบเกี่ยวกับภาษีที่ผู้ขายอาหารเดลิเวอรีสงสัย ว่าทำไมตนเองต้องเสียภาษีในเมื่อเสียภาษีให้กับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ไปแล้ว ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง และทำไมจึงถูกเก็บภาษีย้อนหลัง สามารถอธิบายได้ดังนี้

  • ผู้ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

ตามหลักการพื้นฐานของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกรณีที่มีรายได้จากการขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี เมื่อมีรายได้เกิน 60,000 บาท ต้องยื่นภาษี โดยมีภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อมีการขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เกิดขึ้น นับเป็นภาษีเงินได้จากการขายอาหาร ซึ่งแบ่งการคำนวณเป็น 2 แบบ คือ

  • (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย ​
  • รายได้ x 0.5% (สำหรับรายได้ที่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี)

โดยคำนวณทั้ง 2 แบบ แล้วนำมาเปรียบเทียบหากตัวเลขไหนมากกว่าให้ใช้แบบนั้นยื่นภาษี

​2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับผู้ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกฎหมายมีการบังคับให้ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนเป็นต้นไป

3. ภาษีออนไลน์ หรือ ภาษี e-Payment กรณีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรีโอนเงินจากผู้ซื้ออาหารให้กับผู้ขาย ทางสถาบันการเงินของเจ้าของบัญชี จะทำการส่งข้อมูลยอดเงินเข้าของเจ้าของบัญชีทั้งที่เปิดแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้แก่สรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้สรรพากรคือ

- เงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ดูจำนวนเงิน
- มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี โดยนับเฉพาะจำนวนเงินรับฝากเข้า และมีจำนวนเงินที่รับฝากรวมเกิน 2 ล้านบาท

4. ภาษีป้าย ในกรณีผู้ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีที่มีหน้าร้าน และมีการติดป้ายชื่อร้าน ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า หรือการโฆษณาร้าน ที่ประกอบด้วยอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นป้ายทั่วไป ป้ายผ้าใบ รวมถึงป้ายไฟ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายด้วย

  • ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี นำอะไรมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง

ผู้ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่นภาษีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) และสามารถนำค่าใช้จ่ายอื่นๆ มาลดหย่อนได้ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ รวมถึงค่าลดหย่อนสำหรับครอบครัว ค่าการทำประกัน และการลงทุน หรือค่าเงินบริจาค โดยเจ้าของร้านอาหารควรที่จดบัญชีรายได้ และรายจ่ายไว้

นอกจากค่าลดหย่อนจากค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว หากผู้ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีมีการเข้าร่วมโครงการของรัฐ ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายนี้มาลดหย่อนภาษีได้อีก เช่น โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน

ส่วนกรณีที่ร้านอาหารได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะมีค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าสึกหรอของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในร้าน การลดหย่อนภาษีจากการอบรมพนักงาน ลดหย่อนภาษีจากการทำประกันความคุ้มครอง เป็นต้น

สรุป...รายได้จากการขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษีประจำปี

เมื่อมาถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ สามารถสรุปได้ว่า ผู้ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ทั้งที่มีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้านจะต้องยื่นภาษีประจำปีด้วยถ้ามีรายได้เกิน 60,000 บาท/ปี ถึงแม้ว่าจะได้เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วก็ตาม รวมถึงเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ก็จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

​ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยเรื่องภาษีอย่างเด็ดขาด และต้องท่องไว้อยู่เสมอว่า รายได้ของเราสรรพากรสามารถตรวจสอบได้เสมอ โดยเจ้าของรายได้ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะหากไม่ยื่นภาษีทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ผลกระทบที่ตามมาอาจไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ทำลงไปอย่างแน่นอน

 


อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting