แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใครบ้างต้องเสียภาษี

แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใครบ้างต้องเสียภาษี

ชวนอัปเดตโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และทำความเข้าใจโครงการแจกเงินดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อม สรุปใครบ้างมีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท พร้อมตอบคำถามเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้อง

ทำความเข้าใจสำหรับใครที่กำลังสนใจโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังจากรัฐบาลแจ้งว่าอาจเลื่อนกำหนดการแจกเงินจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ออกไปก่อน เรื่องจากต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบ อย่างไรก็ตามจะให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีหน้านั้น

คำถามที่หลายๆ คนสงสัยว่า ใครมีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท บ้างนั้น ก็ยังคงต้องรอข้อสรุปต่อไปทั้งเรื่องของเงื่อนไข และขั้นตอนการขอสิทธิ์

รวมถึงเรื่องของ “ภาษี” ที่ถือว่าเป็นภาระหน้าที่ของผู้รับเงิน ทั้งผู้รับเงินที่นำไปใช้จ่ายและพ่อค้าแม่ค้าที่มีรายได้จากการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคที่จ่ายเงินผ่านเงินดิจิทัลดังกล่าวด้วย

ดังนั้น วันนี้เรามาทำความเข้าใจเรื่องเงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะแจกกันเสียหน่อย เตรียมความพร้อมก่อนได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท นี้ ว่าอาจ “เป็นคุณหรือเปล่าที่ได้รับ และต้องเสียภาษี!!!”

  • ใครบ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมเงื่อนไขต่างๆ

​โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่คาดว่าจะได้รับประมาณต้นปี 2567 นั้น จากข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนได้อีก เนื่องจากอยู่ในช่วงดำเนินการ

โดยในตอนแรก รัฐบาลได้สรุปเงื่อนไขของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลได้ดังนี้

​1.เป็นคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยสิทธิที่ได้จะผูกกับบัตรประจำตัวประชาชน

​2.ผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐแล้ว จะได้รับเงินดิจิทัลอัตโนมัติโดยไม่ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนใหม่ ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยมีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลที่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐ จะต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย

​3.ได้รับสิทธิ์ใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เต็มจำนวน แม้จะได้รับสวัสดิการจากรัฐในรูปแบบอื่นอยู่แล้ว เช่น ผู้พิการ คนชรา เป็นต้น

​4.ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน “กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล” ที่ผูกกับบัตรประชาชน

​5.กรณีไม่มีโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้บัตรประชาชนคู่กับ QR Code ส่วนตัวที่รัฐออกให้เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการได้ โดยจะต้องไปแสดงตัวตนขอ QR Code ที่ธนาคารกรุงไทย  

​6.ระยะเวลาใช้ 6 เดือน ใช้ไม่หมดจะหมดอายุ ไม่สามารถใช้ต่อได้

​7.สามารถซื้อสินค้าและบริการที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามบัตรประชาชน ทั้งร้านค้ารายย่อย และรายใหญ่ เช่นแม็คโคร เป็นต้น (เล็งปรับจาก 4 กิโลเมตร เป็นภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน)

​8.ไม่สามารถนำไปใช้หนี้ได้

9.ไม่สามารถซื้อสินค้าสีเทา เช่น เหล้า บุหรี่ เป็นต้น

10.ไม่สามารถจ่ายค่าเทอมการศึกษาได้

11.ไม่สามารถจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้

12.ไม่สามารถใช้ช้อปออนไลน์ได้

13.ไม่สามารถซื้ฉลากกินแบ่งรัฐบาลได้

14.ไม่สามารถนำไปใช้ชำระหนี้ได้ เช่น ผ่อนบ้าน รถ

15.เกษตรกร สามารถใช้สิทธิร่วมกัน ซื้อเครื่องจักร เช่น รถไถ เพื่อใช้ในการเกษตรของกลุ่มเกษตรกรได้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีความคืบหน้าโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์แจกเงินดิจิทัล 3 แนวทาง เสนอคณะกรรมการชุดใหญ่

ประเด็นหลักๆ คือ อาจมีการตัดสิทธิผู้ที่มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และเงินในบัญชีเกิน 1 แสนบาท หรือรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และมีเงินในบัญชีเกิน 5 แสนบาท หรือให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

​แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เงื่อนไขต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ครบถ้วน เนื่องจากแต่ละพื้นที่และประชาชนแต่ละส่วนมีความต้องการใช้เงินที่แตกต่างกัน จึงอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโดยรวม และเงื่อนไขแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสมอีก

  • เงื่อนไขสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการ

นอกจาก คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาทแล้ว สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการ สามารถเข้าร่วมได้ทั้งพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนภาษีและที่ขึ้นทะเบียนภาษีกับกรมสรรพากร โดยมีเงื่อนไขต่างกันดังนี้

- พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนภาษีกับกรมสรรพากร เมื่อได้รับเงินดิจิทัลจากผู้ซื้อ สามารถนำเงินดิจิทัลที่อยู่ในแอปพลิเคชัน “กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล” ไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าและวัตถุดิบจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครการได้ แต่จะไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดออกมาได้  

- พ่อค้าแม่ค้าที่ขึ้นทะเบียนภาษีกับกรมสรรพากร เมื่อได้รับเงินดิจิทัลจากผู้ซื้อ สามารถนำเงินดิจิทัลที่อยู่ในแอปพลิเคชัน “กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล” ไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าและวัตถุดิบจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครการได้เช่นเดียวกัน และยังสามารถเบิกเป็นเงินสดได้ผ่านธนาคารของรัฐ

  • ใครบ้างต้อง “เสียภาษีเงินดิจิทัล 10,000 บาท”

​อย่างที่ทราบกันดีว่านโยบายเจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นจากเดิมประมาณ 2-3% และในทางตรงกันข้าม เมื่อมีการจับจ่ายใช้สอย นำเงินดิจิทัลนี้ไปซื้อสินค้าและบริการ รัฐบาลก็จะได้รับประโยชน์เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กลับคืนมา 7% และยังจะได้เงินภาษีจากบรรดาร้านค้าที่ต้องจ่ายในช่วงสิ้นปีภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

​ดังนั้น เบื้องต้นคนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีคือคนที่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท และพ่อค้าแม่ค้าที่รับเงินดิจิทัลจากผู้ซื้อ และการนำเงินดิจิทัลนี้ไปใช้จ่ายต่อ โดยสามารถอธิบายแยกย่อยได้ดังนี้

1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีที่เมื่อมีการซื้อสินค้าและบริการ ผู้ซื้อจะถูกเรียกเก็บ VAT 7% หรือบวกมากับค่าสินค้าและบริการอยู่แล้ว เท่ากับว่าราคาสินค้าและบริการที่จ่ายไป หากร้านค้าใดได้จด VAT ก็จะต้องเรียกเก็บ VAT 7% กับผู้ซื้อ หรือรวมมากับสินค้าแล้วนั่นเอง  ​

​2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่บุคคลธรรมดาเมื่อมีรายได้ต้องเสียภาษี ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

​- ประชาชนทั่วไปที่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามหลักการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ดังนั้น ประชาชนที่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน ทว่าหากเปรียบเทียบจากโครงการอื่นๆ ที่ผ่านมา เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน รัฐบาลได้ยกเว้นเงินในส่วนนี้ไม่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษี

​ดังนั้น ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าในกรณีเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ประชาชนกำลังจะได้รับนั้น จะได้ยกเว้นเช่นกันหรือไม่

​- พ่อค้าแม่ค้าที่รับเงินดิจิทัลจากผู้ซื้อ หากเป็นบุคคลธรรมดาเมื่อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ ก็มีหน้าที่ต้องยื่นเสียภาษีเงิน ดังนั้น รายได้จากเงินดิจิทัลนี้ ถือเป็นรายได้ที่ได้รับเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ที่ต้องเสียด้วย

​3.ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นการเสียภาษีสำหรับร้านค้าที่จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อมีรายได้จากการประกอบกิจการค้าขายและบริการ จะต้องนำรายได้ทั้งหมดมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

สรุป : เมื่อมาถึงตรงนี้ หากหลายคนกำลังกังวลว่าตนเองจะแจ็กพอต รายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีจากเงินดิจิทัล 10,000 นี้หรือไม่ อย่าเพิ่งกังวลใจไป เนื่องจากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังต้องหาข้อสรุปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโดยรวมต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของประชาชนที่สุด

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting