คนโสด VS คนมีคู่ เสียภาษีต่างกันอย่างไร

คนโสด VS คนมีคู่ เสียภาษีต่างกันอย่างไร

ผู้มีรายได้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมกับการยื่นภาษีประจำปี 2566 โดยมีกำหนดยื่นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค.67 และยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เม.ย.67 พร้อมชวนดูความต่าง ระหว่าง "คนโสด" กับคนมี "คู่สมรส" ว่า มีรายละเอียดภาษีต่างกันแค่ไหนอย่างไร

ใกล้เข้าสู่ช่วงยื่นภาษีประจำปีสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดแล้ว โดยกฎหมายกำหนดยื่นภาษีประจำปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567 และยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2567

หากใครคาดว่าตนเองรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษี รวมถึงมีโอกาสเสียภาษี ก็จำเป็นต้องวางแผนภาษีของตนเองกันตั้งแต่เนิ่นๆ และเริ่มคำนวณภาษีกันตั้งแต่ตอนนี้ เช่น มีรายได้เท่าไหร่ สามารถนำอะไรมาลดหย่อนได้บ้าง เป็นคนโสดหรือมีคู่สมรส เนื่องจากค่าลดหย่อนภาษีที่นำมาใช้ได้นั้นจะแตกต่างกัน

โดยหากเป็นการวางแผนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา หรือการคำนวณภาษีของคนโสดกับคนที่มีคู่จดทะเบียนสมรส การเสียภาษีจะมีความแตกต่างกันในบางประการ ซึ่งมีผลกับภาษีที่ต้องเสียอย่างแน่นอน

ดังนั้น ใครที่กำลังโสด รวมถึงคนที่แต่งานจดทะเบียนสมรสแล้ว โปรดอ่านบทความนี้ก่อนยื่นภาษี แบบไหนเสียภาษีเท่าไหร่ แตกต่างกันอย่างไร

วางแผนภาษี “คนโสด & คนมีคู่” ไปพร้อมกัน ดังนี้

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ “คนโสด”

สำหรับคนโสดที่มีรายได้เมื่อถึงเวลายื่นภาษีประจำปี หากรายได้ถึงเกณฑ์จะต้องยื่นภาษี และถ้าคำนวณแล้วมีภาษีที่ต้องเสียก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งหลักการคำนวณภาษีสำหรับคนโสด เพื่อใช้วางแผนการเสียภาษี จะแยกตามประเภทรายได้ได้ดังนี้

1. คนโสดที่ทำงานประจำ มีเงินเดือนเข้าทุกเดือน หากมีเงินเดือนมากกว่า 10,000 บาท หรือรายได้รวมตลอดทั้งปีมากกว่า 120,000 บาท จัดอยู่รายได้พึงประเมินประเภทที่ 1 มาตรา 40(1) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อรวมกับเงินได้ประเภทที่ 2 โดยต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91

2.คนโสดที่มีรายได้อย่างอื่น เช่น ขายของออนไลน์ เปิดร้านอาหาร หรือมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ หากมีรายได้ต่อเดือนเกิน 5,000 บาท หรือมีรายได้รวมตลอดทั้งปีมากกว่า 60,000 บาท จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3-8 (ขึ้นอยู่กับประเภทรายได้) สามารถเลือกหักแบบเหมาได้สูงสุด 60% ขึ้นอยู่กับประเภทรายได้ หรือเลือกหักตามจริง โดยต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ “คนมีคู่จดทะเบียนสมรส”

สำหรับคนมีคู่ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็จำเป็นจะต้องยื่นภาษีเช่นเดียวกับคนโสด และก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ต่างกันหากคำนวณแล้วมีภาษีที่ต้องเสีย ซึ่งหลักการคำนวณภาษีสำหรับคนที่จดทะเบียนสมรส สามารถแยกตามประเภทรายได้ได้ดังนี้

1.คนจดทะเบียนสมรสที่ทำงานประจำ มีเงินเดือนเข้าทุกเดือน หากมีเงินเดือนมากกว่า 18,333 บาท หรือรายได้รวมตลอดทั้งปีมากกว่า 220,000 บาท จัดอยู่รายได้พึงประเมินประเภทที่ 1 มาตรา 40(1) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อรวมกับเงินได้ประเภทที่ 2 โดยต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91

2.คนจดทะเบียนสมรสที่มีรายได้อย่างอื่น เช่น ขายของออนไลน์ เปิดร้านอาหาร หรือมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ หากมีรายได้ต่อเดือนเกิน 10,000 บาท หรือมีรายได้รวมตลอดทั้งปีมากกว่า 120,000 บาท จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3-8 (ขึ้นอยู่กับประเภทรายได้) สามารถเลือกหักแบบเหมาได้สูงสุด 60% ขึ้นอยู่กับประเภทรายได้ หรือเลือกหักตามจริง โดยต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90

  • อะไรบ้างนำมาลดหย่อนภาษีได้

นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อนต่างๆ ที่คนโสดและคนมีคู่ที่ต้องจดทะเบียนสมรส สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ หลักๆ ประกอบด้วย

1.ลดหย่อนตนเอง 60,000 บาท ใช้ได้กับคนโสด และ คนมีคู่ที่จดทะเบียนสมรส

2.ลดหย่อนคู่สมรส (ไม่มีรายได้) 60,000 บาท ใช้สำหรับคนมีคู่ที่จดทะเบียนสมรส

3.ลดหย่อนบุตร 60,000 บาท ใช้สำหรับคนมีคู่ที่จดทะเบียนสมรส

4.ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท (พนักงานขึ้นทะเบียนประกันตน) ใช้ได้กับคนโสด และ คนมีคู่ที่จดทะเบียนสมรส

หมายเหตุ : กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

ทั้งนี้ หากมีรายจ่ายอื่นๆ เช่น เงินบริจาคให้กับหน่วยงานตามที่กฎหมายกำหนด ค่าดอกเบี้ยบ้าน ค่าประกันชีวิต สามารถนำมาลดหย่อนเพิ่มได้ทั้งคนโสดและคนมีคู่

  • หลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ “คนโสด” และ “คนมีคู่”

หลังจากทราบแล้วว่าคนโสดและคนมีคู่สามารถนำค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอะไรมาใช้ได้บ้าง ต่อมาจึงเข้าสู่กระบวนการคำนวณตามสูตรการคำนวณภาษี คือ

1. (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

หากมีรายได้ประจำช่องทางเดียว อัตราภาษีจะเป็นแบบอัตราภาษีก้าวหน้า (อัตราขั้นบันได) ตั้งแต่ 5 – 35% ตามตาราง ดังนี้

อัตราภาษี ฐานภาษี จำนวนภาษีสูงสุด

  • เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษี
  • เงินได้สุทธิ 150,001 – 300,000 บาท อัตราภาษี 5% ฐานภาษี 150,000 บาท จำนวนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
  • เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท อัตราภาษี 10% ฐานภาษี 200,000 บาท จำนวนภาษีสูงสุด 20,000 บาท
  • เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท อัตราภาษี 15% ฐานภาษี 250,000 บาท จำนวนภาษีสูงสุด 37,500 บาท
  • เงินได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% ฐานภาษี 250,000 บาท จำนวนภาษีสูงสุด 50,000 บาท
  • เงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราภาษี  25% ฐานภาษี 1,000,000 บาท จำนวนภาษีสูงสุด 250,000 บาท
  • เงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% ฐานภาษี 3,000,000 บาท จำนวนภาษีสูงสุด 900,000 บาท
  • เงินได้สุทธิเกิน 5,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%

2.ภาษีแบบเหมา = (เงินได้ทุกประเภท – เงินเดือน) x 0.5% ใช้กรณีที่มีรายได้ช่องทางอื่น นอกจากรายได้ประจำหรือเงินเดือน

โดยให้คำนวณภาษีทั้งแบบอัตราภาษีก้าวหน้า (อัตราขั้นบันได) และอัตราเหมา เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน และเลือกยอดภาษีที่ต้องเสียจากวิธีที่ยอดภาษีที่คิดแล้วได้สูงกว่า แต่หากคำนวณด้วยวิธีคิดแบบเหมา ปรากฎว่ามีภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีในวิธีนี้

  • ตัวอย่างเปรียบเทียบภาษีที่ต้องเสียระหว่าง “คนโสด VS คนมีคู่”

สมมุติให้ผู้มีรายได้เป็นพนักงานประจำ ได้รับเงินเดือน 40,000 บาท/เดือน เมื่อรวมรายได้ตลอดทั้งปีจะเท่ากับ 480,000 บาท ซึ่งเบื้องต้นรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งคนโสดและคนมีคู่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ไปติดตามจากตัวอย่างดังนี้

คนโสด

รายได้ตลอดทั้งปี 480,000 บาท
หักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท

ค่าลดหย่อน
- ลดหย่อนตนเอง 60,000 บาท
- ประกันสังคม 9,000 บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ 311,000 บาท

ภาษีที่ต้องเสีย เทียบตารางภาษีก้าวหน้า (10%) = 8,600 บาท

คนมีคู่จดทะเบียนสมรส

รายได้ตลอดทั้งปี 480,000 บาท
หักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท

ค่าลดหย่อน

- ลดหย่อนตนเอง 60,000 บาท
- ประกันสังคม 9,000 บาท
- ลดหย่อนคู่สมรส (ไม่มีรายได้) 60,000 บาท
- ลดหย่อนบุตร 1 คน 30,000 บาท

คงเหลือเงินได้สุทธิ 221,000 บาท

ภาษีที่ต้องเสีย เทียบตารางภาษีก้าวหน้า (5%) = 3,550 บาท

สรุป...คนมีคู่ต้องจดทะเบียนสมรสและคู่ไม่มีรายได้ ลดหย่อนภาษีได้มากกว่า

จากข้อมูลและตัวอย่างข้างต้น ทำให้มองเห็นได้ว่าระหว่างคนโสดกับคนที่จดทะเบียนสมรส หากคู่สมรสไม่มีรายได้ จะสามารถนำค่าลดหย่อนคู่สมรส และค่าเลี้ยงดูบุตรมาลดหย่อนภาษีได้มากว่าคนโสด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคนโสดหรือคนมีคู่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กฎหมายยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาค ค่าประกันชีวิต ดอกเบี้ยบ้าน เป็นต้น ก็จะช่วยลดภาระทางภาษีได้เพิ่มขึ้น

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting