เงินบำนาญประกันสังคม

เงินบำนาญประกันสังคม

ในแต่ละเดือนที่สมาชิกประกันสังคม ถูกหักเงินสมทบเข้าไปในกองทุนประกันสังคม ท่านผู้อ่านหลายท่านคงพอจะทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าเงินที่ถูกหักไปนั่น

ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปลงทุน และ อีกส่วนหนึ่งจะนำไปจ่ายเป็นเงินบำเหน็จ บำนาญให้แก่สมาชิกประกันสังคม แต่หลายๆท่านก็คงมีคำถามว่า ที่เราจ่ายประกันสังคมไปนั่น เราจะได้รับบำเหน็จ หรือบำนาญเท่าไร วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าให้ฟังกันครับ

ในส่วนของเงินบำเหน็จนั้นจะจ่ายในรูปของเงินก้อนให้แก่ผู้ส่งเงินสมทบมามากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน และหากมีการจ่ายเงิน สมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเป็นเงินบำนาญโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม เงินบำนาญที่ได้รับนั้น แต่ละคนจะได้รับไม่เท่ากัน โดยมีข้อสังเกตดังนี้ครับ

ประการแรก ยอดเงินบำนาญที่จะได้รับนั้น คำนวนจากยอดเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยที่ เพดานสูงสุดของเงินเดือนที่นำมาคิดยอดเงินสมทบจะอยู่ที่ 15,000 บาท ดังนั้นต่อให้เงินเดือนสูงเกิน 15,000 บาทก็จะคิดที่ 15,000 บาทเท่านั้น โดยเงินบำนาญจะจ่ายให้เป็นอัตราส่วนที่ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หากจะยกตัวอย่าง ก็จะได้ว่า หากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 10,000 บาท ก็จะได้เงินบำนาญอยู่ที่ 2,000 บาท หากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 15,000 บาทก็จะได้เงินบำนาญอยู่ที่ 3,000 บาทนั้นเอง

ข้อสังเกตที่อยากจะแนะนำนั่นก็คือ หากออกจากงาน และมีการเปลี่ยนจากการเป็นผู้ประกันมาตรา 33 เป็นมาตรา 39 จะทำให้ยอดเงินเดือนเฉลี่ยลดลงด้วย เนื่องจาก ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะมีเพดานเงินเดือนเพื่อคิดเงินสมทบอยู่ที่ 4,800 บาทเท่านั้น หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ นั่นคือ การเปรียบเทียบทางเลือกผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท 

โดยเมื่อส่งเงินครบ 180 งวดแล้ว ไม่ชำระต่อ เพื่อรอไปรับเงินบำนาญตอนเกษียณเลยทีเดียว จะทำให้มีค่าเฉลี่ยเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 15,000 บาท โดยจะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท แต่หากเลือกที่จะย้ายจากมาตรา 33 เป็นมาตรา 39 แล้วส่งต่ออีก 5 ปี เดือนละ 432 บาท จะทำให้เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 4,800 บาท และจะได้รับบำนาญ 20% ของ 4,800 บาทนั่นก็คือเพียง 960 บาทนั่นเอง จะเห็นได้ว่า การเลือกย้ายจากมาตรา 33 ไปเป็นมาตรา 39 จะทำให้เงินบำนาญที่ได้รับลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ข้อสังเกตถัดมานั้นคือ หากมีการส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน จำนวนเดือนที่เกินมาทุกๆ 12 เดือนจะได้รับเงินเพิ่มอีก 1.5% ตัวอย่างเช่น หาก มีการส่งเงินประกันสังคมมา 204 เดือนที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาทก็จะได้เงินบำนาญที่ 20% ของ 15,000 และ (1.5% x 2) ของ 15,000 (เกิน 180 เดือนมา 24 เดือน หรือก็คือ 2 ปี) รวมเป็นบำนาญที่จะได้รับเท่ากับ 3,450 บาทนั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากยอดส่งเงินสมทบที่เกินมา เมื่อนำไปหารด้วย 12 แล้ว เหลือเศษเท่าไร ก็จะปัดลง 

นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ก่อนจะออกจากประกันสังคม เราควรจะเช็คยอดงวดเงินสมทบที่เราส่งไปเสียก่อน ถ้าหากว่างวดเที่ราส่งไปนั้นหากส่งเพิ่มอีกไม่กี่เดือนก็จะได้บำนาญมากขึ้น ก็ควรจะส่งเงินประกันสังคมให้ครบเสียก่อน อย่างไรก็ตาม หากการเลือกส่งต่อนั้นจำเป็นจะต้องย้ายไปเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แล้วนั้น ต้องลองคำนวนเสียดูก่อนว่าจะมีผลกระทบทำให้ ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายลดลงมากแค่ไหน หากไม่มากนัก ก็คุ้มที่จะทำอยู่ครับ  และหากผู้รับบำนาญ เกิดเสียชีวิตก่อนจะได้รับบำนาญครบ 60 เดือน ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับจำนวนเงินบำนาญเดือนสุดท้าย คูณกับ จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน เช่นหากได้รับบำนาญเดือนละ 3,000 บาท และเสียชีวิต หลังจากได้รับบำนาญมาแล้ว 10 งวด ทายาทจะได้รับ 3,000 บาท คูณด้วย ส่วนต่างรหว่าง 60 กับ เงินบำนาญที่ได้รับมาแล้วที่ 10 เดือน ก็คือ 50 ดังนั้นจะได้บำเหน็จเท่ากับ 150,000 บาทครับ

สรุป ได้ว่า การเปลี่ยนจากเป็นสมาชิกผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นมาตรา 39 จะทำให้ค่าเฉลี่ยฐานเงินเดือนที่นำมาคำนวนเงินบำนาญลดลง สมาชิกต้องลองคำนวนให้ดีว่าคุ้มหรือไม่ และ หากมีการจ่ายเงินสมทบมาเกิน 180 งวดแล้ว ให้สมาชิกลองเช็คว่า จำนวนที่เกินมาขาดอีกกี่เดือนจะทำให้หารด้วย 12 ลงตัว เพื่อจะได้เพิ่มเงินบำนาญอีก 1.5% สำหรับทุก 12 เดือนที่เพิ่มขึ้นมา และสุดท้าย การรับเงินบำนาญประกันสังคมนั้นจะสามารถรับได้ผ่าน ระบบ พร้อมเพย์ ที่ผูกด้วยเลขบัตรประชาชนเท่านั้น หากใช้วิธีการให้โอนเข้าบัญชีธนาคารด้วยวิธีอื่นจะมีค่าธรรมเนียมดำเนินการ ก็จะทำให้ได้รับเงินบำนาญประกันสังคมน้อยลงอีกด้วยครับ