บันได 4 ขั้น สู่การออม กับเทคนิคบริหารเงิน ฉบับเงินเดือนหมื่นห้า

บันได 4 ขั้น สู่การออม กับเทคนิคบริหารเงิน ฉบับเงินเดือนหมื่นห้า

ส่องเคล็บลับการบริหารเงินเดือน 15,000 บาท ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยสินค้าล่อตาล่อใจ และค่าของชีพที่แพงขึ้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ทำอย่างไรจะมีเงินออม และแบ่งเงินไปลงทุนได้ กับ 6 นิสัยที่ต้องลด ละ เลิก

Key Point :

  • ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการลงทุนและการออมมากขึ้น ขณะเดียวกัน หากเพิ่งเริ่มทำงานแล้วได้เงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท สามารถออมเงินได้ ด้วยการวางแผนทางการเงิน
  • ทำความรู้จัก 'Nudge Theory' ทฤษฎีผลักดัน ของ ดร. ริชาร์ด เอช. เธเลอร์ ที่ช่วยดีไซน์ทางเลือกไม่ใช่การบังคับ เพื่อให้เดินสู่เป้าหมายได้แบบไม่กดดันมากนัก
  • พร้อมด้วย 4 เทคนิคการแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ด้วยหลัก 50 : 20 : 20 : 10 ที่จะช่วยให้เรามีทั้งเงินสำหรับใช้จ่ายที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายสร้างความสุข การออม และลงทุน

 

ในยุคที่ข้าวของแพงขึ้น โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ที่หลายคนต้องใช้จ่ายไปกับค่าเช่าห้อง ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าข้าวของเครื่องใช้ อีกทั้ง ความจำเป็นของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน แล้วหากเราเพิ่งเริ่มทำงานและได้ เงินเดือน 15,000 บาท แต่อยากมีเงินออม หรือ ต้องการลงทุนจะทำอย่างไร

 

บันได 4 ขั้น สู่การออม

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยกตัวอย่าง แนวคิดการเก็บเงิน 'Nudge Theory' หรือทฤษฎีผลักดัน ของ ดร. ริชาร์ด เอช. เธเลอร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2560 ที่จะเป็นตัวช่วยเก็บให้เราสามารถเก็บเงินได้ โดยไม่กดดันมากนัก

 

Nudge Theory เป็นการดีไซน์ทางเลือกไม่ใช่การบังคับ เพื่อให้ทำในสิ่งที่เราต้องการ คนเราโดยปกติแล้วไม่ค่อยจะได้คิดถึงเป้าหมายในระยะยาว คิดถึงแต่เพียงเป้าหมายในระยะสั้น ๆ การเก็บเงินเหมือนเป็นการบีบบังคับใจ จึงทำให้หลายคนรู้สึกเครียดจนเกินไปจึงทำไม่บรรลุเป้าหมาย แต่ทฤษฎีนี้จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการเก็บเงิน เพื่อให้เก็บสำเร็จนั่นเอง โดยมี 4 ขั้นตอน คือ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

'เงินเดือน 15,000' เก็บยังไงให้ได้ 'เงินล้าน'

'อยากรวย' ต้องเข้าใจ 'อคติเชิงพฤติกรรม' กับดักใหญ่ให้คนไทยไม่มีเงินออม

 

 

ให้รางวัลตัวเอง ทำดีต้องมีรางวัล

การสร้างแรงบันดาลใจในการเก็บเงิน คือ การให้รางวัลตัวเอง ด้วยการกำหนดรางวัลเอาไว้ หากสามารถเก็บเงินได้ตามเป้าหมายจะให้รางวัลนั้นกับตัวเอง ยกตัวอย่าง ตั้งเป้าหมายในการเก็บเงิน ไม่ต้องยิ่งใหญ่มากมาย เช่น เก็บเงินให้ได้เดือนละ 2,000 บาท หากเก็บได้ครบ 1 ปี จะให้รางวัลตัวเองด้วยการซื้อของที่อยากได้ 1 ชิ้น ในงบไม่เกิน 4,000 บาท เป็นต้น

 

เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อก้าวสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น

เมื่อมีการตั้งเป้าหมายในทุกๆ เดือน เดือนละ 2,000 บาท ต้องมีการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเสียใหม่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น จากที่เคยนัดเพื่อนไปปาร์ตี้สังสรรค์ เดือนละครั้ง อาจต้องเปลี่ยนเป็นนัดสองเดือนครั้ง หรือเปลี่ยนจากปาร์ตี้ มาทำกิจกรรมอย่างอื่น ร่วมกันที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าใช้จ่ายน้อยแทน

 

แยกเงินออกเป็นส่วนๆ แล้วทำรายการบัญชีแยก

การเก็บเงินให้สำเร็จ ต้องอาศัยการวางแผนและการจัดการที่ดี โดยการแยกเงินออกเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน อาจแยกออกเป็นแต่ละบัญชีเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เช่น บัญชีเงินเก็บ บัญชีค่าใช้จ่ายรายเดือน บัญชีเก็บเงินไว้เป็นเงินลงทุน จะได้ไม่ปนกัน และไม่เผลอไปเอาเงินเก็บมาใช้จ่าย

 

ตรวจดูยอดเงินสม่ำเสมอ จะได้ไม่เผลอใช้จนหมด

การเช็กยอดเงินคงเหลือในบัญชีเป็นสิ่งที่เราพึงกระทำให้เป็นนิสัย จะได้ไม่เผลอใช้เงินซื้อของฟุ่มเฟือยหรือของไม่จำเป็น โดยส่วนที่เป็นเงินเก็บควรแยกออกมาเก็บไว้ในบัญชีเงินเก็บตั้งแต่ต้นเดือน โดยใช้วิธีการหักเงินจากบัญชีอัตโนมัติเลยก็ได้ เพื่อไม่ให้ลืมนำเงินเก็บจำนวนนี้เข้าบัญชี

 

 

เงินเดือน 15,000 อยากลงทุนทำอย่างไร

 

Make by Kbank ได้แนะนำการวางแผนการเงินของคนเงินเดือน 15,000 บาท แล้วอยากมีเงินเก็บพร้อมกับการลงทุนด้วย 4 เทคนิค ดังนี้

1. รู้จักสัดส่วนของการใช้เงินอย่างถูกต้อง

หากต้องการจะเก็บเงินลงทุน ต้องแบ่งสัดส่วนให้เป็น 50 : 20 : 20 : 10

  • 50% เป็นส่วนของค่าใช้จ่ายที่ต้องถูกกำหนดเอาไว้แบบตายตัวแต่ละเดือนเลย เช่น ค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าอินเทอร์เน็ต, ค่าเช่าห้อง, ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง ฯลฯ
  • 20% แรกเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขให้กับตนเอง หรือซื้อในสิ่งที่อยากได้บ้าง เช่น เสื้อผ้า, เกม, ปาร์ตี้สังสรรค์ เพื่อเป็นของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ในฐานะที่มุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก
  • 20% แบ่งเงินเป็นสัดส่วนสำหรับการแยกเอาไว้ในบัญชีเก็บด้วยกันกับแฟน หรือจะเก็บคนเดียวก็ไม่มีปัญหา (แยกหลายบัญชีเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ได้ แต่ต้องไม่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น)
  • 10% ส่วนนี้สำหรับไว้ลงทุนตามสถานการณ์ที่เหมาะสม หรือมีแนวโน้มสร้างผลกำไรได้อย่างดีในอนาคต

 

2. ใช้ตัวช่วยเพื่อแบ่งเงินออกให้ชัดเจน

เมื่อรู้แล้วว่าต้องแบ่งเงินเป็นสัดส่วนอย่างไรบ้าง การมีตัวช่วยดี ๆ สำหรับวางแผนการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น แอปฯ “MAKE by KBank” ที่เป็นตัวช่วยแยกกระเป๋าเงินได้แบบไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าใช้จ่ายประจำวัน, ค่าอาหาร-ค่าเดินทาง, ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ฯลฯ

 

3. ศึกษาแนวทางการลงทุนให้ดี

การลงทุนมีความเสี่ยง หากอยากลงทุนต้องเริ่มจากถามตนเองว่าถนัดการลงทุนแนวไหนมากที่สุด เช่น หุ้น, กองทุน, ทองคำ, คริปโต ฯลฯ ทั้งนี้ การลงทุนก็ต้องรอผลกำไรในระยะเวลาหนึ่งเช่นกัน หากไม่แน่ใจว่าวิธีลงทุนแบบไหนเหมาะกับตนเองมากที่สุด สามารถหาข้อมูล หรือเข้าคอร์สที่เกี่ยวข้อง และถามตนเองว่าพร้อมต่อความเสี่ยงดังกล่าวหรือไม่

 

4. กระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนหลายรูปแบบ

การบริหารความเสี่ยงของตนเองให้เป็น หลักง่าย ๆ คือ พยายามเลือกลงทุนกับสินทรัพย์หลายประเภท เช่น หุ้น, กองทุน, คริปโต แต่เงินลงทุนทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 10% ที่ได้แยกเอาไว้ เมื่อได้ผลกำไรก็เปิดบัญชีเก็บด้วยกันแล้วสะสมกำไรเอาไว้ หากขาดทุนก็เอาเงินดังกล่าวมาต่อยอด เมื่อแบ่งเงินเป็นสัดส่วน กระจายความเสี่ยง รวมถึงไม่ทำให้รู้สึกเครียดเกินไป จากนั้นก็ค่อย ๆ เก็บเงินลงทุนกับสินทรัพย์ไปเรื่อย

 

ลด - ละ - เลิก 6 นิสัย เก็บเงินไม่อยู่

ทั้งนี้ นอกจากเคล็ดลับและคำแนะนำในการออมเงิน การแบ่งสัดส่วนเงินแล้ว ยังมีสิ่งที่ควรลด ละ เลิก เพื่อให้เราปรับการใช้เงิน ให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น ข้อมูลจาก ธนาคารทหารไทยธนชาต อธิบายว่า หลายคนคงเคยได้ยินทฤษฎี 21 วัน ของ Dr. Maxwell Maltz ที่กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ หากทำสิ่งไหนซ้ำๆ เป็นเวลา 21 วัน จะทำให้ชินกับสิ่งนั้นจนกลายเป็นนิสัย

 

ดังนั้นเมื่อต้องการเปลี่ยนนิสัย หรือพฤติกรรม เราก็สามารถทำได้ด้วยการเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ แล้วรักษาวินัย ให้ครบ 21 วัน แล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถนำทฤษฎีนี้มาปรับใช้กับนิสัยทางการเงินได้ เช่น วินัยในการออมเงิน, วางแผนการเงิน, ลงทุน เป็นต้น

 

1. เลิกใช้เงินก่อน แล้วออมทีหลัง

หากคุณเป็นหนึ่งในพนักงานเงินเดือน ที่พอเงินเข้าบัญชีปุ๊บ ก็โอนออกไปใช้จ่ายปั๊บ เหลือเท่าไรค่อยนำมาเป็นเงินเก็บ ให้ลองเปลี่ยนวิธีเป็นการออมเงินทันทีแล้วค่อยใช้ทีหลังแทน จะช่วยให้ออมเงินตามเป้าหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น

ควรกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการออมในแต่ละเดือนไว้ เพื่อสร้างความสม่ำเสมอ และทำจนเป็นนิสัย เช่น เมื่อเงินเดือนเข้า จะหัก 10% ของเงินเดือนมาเป็นเงินออมทันที เหลือเท่าไรค่อยนำไปใช้จ่าย หรือ เช่น สร้างนิสัยรักการออม โดยการหยอดกระปุกทุกวัน วันละ 100 บาท เป็นต้น

 

2. เลิกตามกระแส

สูญเสียกันไปเท่าไรแล้วกับคำว่า “ของมันต้องมี” ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียเข้ามามีผลต่อนิสัยของมนุษย์เป็นอย่างมาก บางทีเห็นเพื่อนในโลกออนไลน์ซื้อของสวย ๆ งาม ๆ จากที่เราไม่เคยอยากได้ อยากมี ก็ไปซื้อตามโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็น ทำให้บ่อยครั้งที่เรามักจะหมดเงินไปกับการตามกระแส ดังนั้น ก่อนใช้จ่าย เราควรคำนึงถึงความจำเป็นก่อนเสมอ ให้ซื้อของเพราะต้องใช้ ไม่ใช่เพราะของมันต้องมี

 

3. เลิกก่อหนี้ โดยไม่จำเป็น

หากเป็นคนที่ซื้อของด้วยเหตุผล “ของมันต้องมี” บ่อย ๆ หนึ่งในปัญหาที่มนุษย์เงินเดือนจะเจอกันนั่นคือ หนี้บัตรเครดิต รูดไปก่อน ค่อยจ่ายทีหลัง แต่เอาเข้าจริงไม่มีให้จ่าย หรือมีจ่ายแบบเดือนชนเดือน ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหาการเงินไม่รู้จบ เพื่อตัดปัญหาเหล่านี้จึงควรเลิกก่อหนี้โดยไม่จำเป็น และรู้จักบริหารเงินอย่างชาญฉลาด เช่น รูดบัตรเครดิตในจำนวนเงินที่ผ่อนไหว, ไม่ใช้จ่ายเกินตัว เป็นต้น

 

4. เลิกใช้เงินแบบไม่วางแผนอนาคต

หลายคนประสบปัญหาเงินเหลือไม่พอใช้ถึงสิ้นเดือน อาจเป็นเพราะคุณไม่ได้วางแผนการเงิน หรือวางแผนไม่ดีพอ จึงทำให้เหลือเงินไม่พอต่อการใช้จ่าย เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพียงเริ่มทำรายการสรุปค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน จดบันทึกค่าใช้จ่ายรายวัน-รายสัปดาห์ รวมถึงการทำงบการเงินล่วงหน้าเพื่อประเมินรายรับ-รายจ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บริหารเงินได้ดียิ่งขึ้น

 

5. เลิกลงทุนโดยไม่ศึกษาให้รอบคอบ

ทุกคนล้วนใฝ่ฝันที่อยากจะมี passive income จึงมักนำเงินเก็บไปลงทุนเพื่อสร้างรายรับ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่ต้องสูญเงินไปเพราะไม่ศึกษาการลงทุนให้ดีเสียก่อน ไปลงทุนตาม ๆ กันไปกับคนรู้จัก เพราะการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะลงทุนอะไรก็ตาม จึงควรศึกษาให้ละเอียดด้วยตัวเอง ทำความเข้าใจ พร้อมทั้งศึกษารายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ วางแผนการลงทุนให้รอบด้าน หากต้องการคำแนะนำ ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

 

6. เลิกเก็บเงินบัญชีเดียว

หากคุณมีบัญชีออมเงิน และบัญชีสำหรับใช้จ่ายเป็นบัญชีเดียวกัน อาจทำให้คุณเผลอใช้เงินเก็บไปโดยไม่รู้ตัวได้ เพราะฉะนั้นจึงควรแยกบัญชีเงินออม และเงินสำหรับใช้จ่ายออกจากกัน รวมถึงควรแยกบัญชีตามจุดประสงค์ในการออมเงิน เพื่อไม่ให้ดึงเงินมาใช้มั่วซั่วอีกด้วย เช่น แบ่งเงินเป็น 3 ส่วน คือ สำหรับใช้จ่าย, สำหรับออมเพื่อลงทุน และสำหรับออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เป็นต้น

 

 

อ้างอิง : Make by Kbank , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา , ธนาคารทหารไทยธนชาต