ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดสองเดือนข้างหน้า

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดสองเดือนข้างหน้า

บทความผมอาทิตย์ที่แล้ว เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ทําให้มีคําถามตามมาพอควรว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจสหรัฐจะซอฟต์แลนดิ้งได้หรือไม่

เป็นคําถามที่ดีมาก วันนี้จึงอยากนําความเห็นที่ผมได้ให้ไปในสองประเด็นนี้ มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

จากนี้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดอีกสองครั้ง คือในวันที่ 31 ตุลาคมถึง 1 พฤศจิกายน และในวันที่ 12-13 ธันวาคม

ซึ่งทั้งสองครั้งเฟดคงพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ เงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เพื่อกําหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับการรักษาอัตราเงินเฟ้อให้ตํ่าสอดคล้องกับเป้าระยะยาวที่ร้อยละ 2 และการมีงานทำคือเศรษฐกิจมีการจ้างงานเต็มที่

เศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้กําลังไปได้ดี การฟื้นตัวเข้มแข็ง และอยู่ในโหมดของการฟื้นตัวเต็มที่แม้อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเศรษฐกิจสหรัฐที่จะปรับตัวรับแรงกระทบต่างๆ

นักวิเคราะห์ก็เริ่มมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถซอฟต์แลนดิ้งได้ในปีนี้ ถ้าไม่มีอะไรที่คาดไม่ถึง คือเศรษฐกิจชะลอพร้อมอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยที่อัตราการขยายตัวติดลบ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุดยืนยันแนวโน้มนี้ การค้าปลีกเดือนกันยายนขยายตัวร้อยละ 0.7 คิดเป็นขยายตัวร้อยละ 3.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.4 การจ้างงานเข้มแข็ง

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดสองเดือนข้างหน้า

ธนาคารโกลด์แมนแซค ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 4 ในไตรมาสสาม เทียบกับร้อยละ2.1ไตรมาสสอง

ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 3.7 เท่ากับเดือนก่อนหน้า ซึ่งแรงกดดันส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริการ สะท้อนการบริโภคที่ขยายตัวและภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและแรงงานในภาคบริการ

อัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.7 เป็นเดือนที่สอง ชี้ว่า แม้เงินเฟ้อในสหรัฐจะเป็นขาลงแต่การลดอัตราเงินเฟ้อให้ตํ่ากว่านี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย

ส่วนหนึ่งเพราะดิสรัปชั่นต่อการผลิตในเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ต้นทุนการผลิตจึงสูงขึ้น ทําให้การลดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าระยะยาวที่ร้อยละ 2 จะท้าทายและใช้เวลา ซึ่งเจ้าหน้าที่เฟดก็มองว่าอาจนานถึงปี 2026 และคงต้องการอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากขึ้นเพื่อลดเงินเฟ้อ

หมายถึงอัตราดอกเบี้ยยังต้องเป็นขาขึ้น แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยต้องสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้เข้มแข็งพอที่จะรับแรงกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดสองเดือนข้างหน้า

คําถามคือ ผลและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐและเงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน และจะมีผลต่อทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐหรือไม่

ในประเด็นนี้ เป็นที่ทราบกันว่า การกําหนดนโยบายการเงินสหรัฐจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสหรัฐเป็นหลัก เรื่องอื่นเป็นรอง ส่วนผลกระทบที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะมีต่อราคานํ้ามันและดิสรัปชั่นในเศรษฐกิจโลกและมีผลต่อถึงเศรษฐกิจสหรัฐนั้น

เท่าที่ประเมินขณะนี้ ผลดังกล่าวคงไม่เท่ากรณีสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ปะทุขึ้นปีที่แล้วในแง่ดิสรัปชั่นต่อแหล่งการผลิตคืออาหาร พลังงาน วัตถุดิบ และราคาในตลาดโลกของสินค้าเหล่านี้ แต่ผลกระทบที่จะมีต่อการขนส่งสินค้า การเดินทางระหว่างประเทศ

และความสูญเสียของชีวิตผู้คนมีความไม่แน่นอนและอาจรุนแรงมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าสงครามจะพัฒนาต่อไปอย่างไร เป็นสงครามเต็มรูปแบบหรือไม่ ซึ่งถ้าขยายวง ยืดเยื้อ มีมาตรการแซงก์ชันคือห้ามค้าขายมากมาย มีการปิดล้อมเส้นทางเดินเรือเส้นทางการบินที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ผลกระทบและความสูญเสียก็จะมาก

แนวคิดเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดขณะนี้จึงเป็นสองทาง ทางแรกคือโน้มไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนสิ้นปี ตามที่ตลาดการเงินเคยวิเคราะห์ไว้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังเข้มแข็งและแนวโน้มเงินเฟ้อยังเหมือนในเดือนกันยายน

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดสองเดือนข้างหน้า

ขณะที่ผลของสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสต่อเศรษฐกิจและราคานํ้ามันในสหรัฐอยู่ในเกณฑ์จํากัด ไม่กระทบแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในสหรัฐ

การปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงเพื่อปูทางไปสู่การลดอัตราเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าในระยะยาว และเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้เข้มแข็งพอที่จะอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้

ทางที่สองคือ ยังไม่ปรับขึ้นคราวนี้และคราวหน้า รอดูสถานการณ์ไปถึงสิ้นปี และระหว่างนี้ใช้ประโยชน์เต็มที่ของความเข้มแข้งทางเศรษฐกิจที่สหรัฐมีให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้ประโยชน์และเอนจอย ซึ่งจะทําให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐดีต่อเนื่องในไตรมาสสี่

แต่แม้ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฟดคงส่งสัญญาณชัดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังไม่จบ การบ้านที่ต้องลดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าระยะยาวยังมีอยู่ จำเป็นที่ต้องตั้งการ์ดสูงไว้ คือ อัตราดอกเบี้ยจะยังสูงและสูงอีกนาน

ผลการประชุมในวันที่ 31 ตุลาคมถึง 1 พฤศจิกายนคงชัดเจนว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐจะเลือกทางไหน แต่แน่ใจได้เลยว่านักลงทุนคงชอบแนวทางสองเพราะอัตราดอกเบี้ยจะยังไม่ขึ้น ดีต่อราคาสินทรัพย์ รัฐบาลสหรัฐก็คงชอบแนวทางสองเพราะปีหน้าเป็นปีเลือกตั้ง และจะได้ประโยชน์ถ้าเศรษฐกิจปีนี้ฟื้นตัวต่อเนื่องและเข้มแข็ง

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดสองเดือนข้างหน้า

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]