ตรวจสอบภายใน: กลไกสร้างความยั่งยืน

ตรวจสอบภายใน: กลไกสร้างความยั่งยืน

สมาคมผู้ตรวจสอบภายใน ได้เชิญผมไปปาฐกถาเมื่อวันจันทร์​ ในประเด็นว่าผู้ตรวจสอบภายใน มีความสำคัญอย่างไรต่อธรรมาภิบาล

ผมเล่าว่า ทุกปีจะมีวันหนึ่งซึ่งผมต้อง “ลุ้น” ว่า ก่อนเที่ยงวันนี้ ผมจะมีความสุขหรือความทุกข์ วันนั้นคือ “วันตรวจสุขภาพประจำปี” ครับ

สมัยหนุ่มสาวเราไม่ต้องคิดมาก  แต่พออายุมากขึ้น มันอดคิดไม่ได้ว่า ปีนี้จะเจออวัยวะส่วนใดภายในร่างกาย ที่ผิดปกติหรือไม่ และผลที่ออกมาจะทำให้ทุกข์ใจหรือไม่

ในวัย ส.ว. ถ้าหากผลการตรวจไม่แตกต่างจากปีก่อน ก็ถือว่าเป็นพรจากพระเจ้าแล้วครับ

ผมบอกผู้ฟัง ซึ่งมีวิชาชีพตรวจสอบภายใน หรือ Internal Auditors (IA) ว่า ทีมนักวิเคราะห์ที่ เจาะเลือดผมไปตรวจ ทีมเอ็กซเรย์ อัลตราซาวด์ และแพทย์ผู้อ่านผล ก็คล้ายๆพวกท่านนั่นแหละ คือทำหน้าที่เป็น “ทีมตรวจสอบภายใน” ร่างกายของผมครับ  

เพื่อหาตัวบ่งชี้ ว่าร่างกายนี้ ยังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ มีภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้นตรงไหน ควรป้องกันหรือเตรียมรักษาแต่เนิ่นๆอย่างไร เพื่อชีวิตจะได้ดำเนินต่อไปอย่างมีคุณภาพ 

การที่เรามี IA ตรวจสอบภายในร่างกายเราปีละครั้ง ย่อมดีกว่าไม่มี…ถูกต้องไหมครับ

แต่เราทุกคนก็มีอีกบทบาทหนึ่ง  คือบทบาทในวิชาชีพ วันนี้ท่านมาฟังผมในฐานะ IA ส่วนผมมาพูดกับท่านในฐานะ CEO

ถ้าเราตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อความไม่ประมาท เวลาเป็น CEO  ผมก็รู้สึกไม่ต่างกันครับ เพราะผมต้องการความมั่นใจว่า องค์กรผมมีความแข็งแรง ไม่มีความความเสี่ยงใดๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ในจุดที่ผมมองไม่เห็น

ผมอยากได้ IA ที่เก่งๆ IA ที่จริง ใจ ให้ช่วยดู ช่วยเตือน และผมจะบอก IA เสมอว่า ให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ให้ผมมั่นใจว่าองค์กรนี้โปร่งใสจริง

พอสั่งสมประสบการณ์มากขึ้น เราก็มักได้รับเชิญให้เป็น  “บอร์ด” หรือ เป็นประธานของบริษัทต่างๆ หรือบางทีก็ เป็นกรรมการตรวจสอบ (AC)

คราวนี้ คนวิชาชีพ IA อย่างท่าน  กับคนเป็น AC  อย่างผม ก็วนเวียนมาพบกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

ในฐานะกรรมการตรวจสอบ….

ผมไม่ต้องการมีชื่อขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ 

ผมไม่ต้องการถูกสอบสวน หรือกล่าวโทษ โดยสำนักงาน ก.ล.ต. 

ผมไม่ต้องการถูกตราหน้าโดยนักลงทุน ว่าบกพร่อง

แต่ความท้าทายก็คือ AC มีอยู่ 3 คน ประชุมกัน 2-3 เดือนครั้ง แล้ว AC จะรู้ได้อย่างไรว่าเงินทองของบริษัทหลายพันหลายหมื่นล้าน ได้สูญหายไปหมดสิ้นแล้ว ทั้งๆที่งบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบ ยังดูดีอยู่เลย!

AC ต้องพึ่งพาคนอื่นทั้งนั้นครับ 

ต้องพึ่งพาและหวังว่า CEO จะเป็นคนเก่ง คนดี

ต้องหวังว่า CFO จะไม่หมกเม็ดตัวเลขใดๆ

ต้องหวังว่า ผู้สอบบัญชี ที่ยืนยันว่างบเชื่อถือได้ จะไม่มาบอกอีกสามปีให้หลัง ว่ามันผิด … และต้องหวังว่า IA จะเป็นทีมงานที่ดีของเรา

​AC  ร่วมอนุมัติแผนการตรวจสอบ แต่คนที่ลงไปทำจริง  คือ  IA  ส่วนหน้าที่ของ AC คือถาม  เท่าที่ถามได้ แต่ถ้าท่านไม่รอบคอบหรือไม่ตอบให้ครบถ้วน  เราก็ได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และใช้ดุลพินิจผิดพลาด 

AC มีหน้าที่ต้องยืนยันว่า “บริษัทมีระบบการตรวจสอบภายในที่ดีเพียงพอ…..”  แต่ถ้าจะยืนยันด้วยความมั่นใจจริงๆ  ก็อยู่ที่คุณภาพของ IA ด้วยครับ

เวลา AC ประชุมกับ สำนักงานสอบบัญชี ระดับชื่อเสียงโด่งดัง เราก็เชื่อมั่นในข้อมูลที่เขารายงาน เราถามละเอียด แต่ถึงตอนจบ เขาก็มักจะถามเรากลับมาว่า AC รู้อะไรที่เขาไม่รู้บ้างไหม ก็พึ่งพากันไปมาแบบนี้แหละครับ 

สรุปว่าทุกฝ่าย ต่างมีความสำคัญ ในระบบธรรมาภิบาล 

ผมจบลงด้วยคำพูดว่า เมืองไทยเรานี้ ถ้าหากเราคาดหวังให้คนไทย “ทุกคน” ต้องมีความสุข นั่นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่า “คนไทยส่วนมาก มีความสุขมากๆ”….  ผมว่าเรามีมาแล้วนะ

วันที่เด็กจบใหม่ ไม่ต้องกังวลว่าจะหางานทำไม่ได้

วันที่ชาวนาชาวไร่ ยิ้มแย้มแจ่มใส สร้างบ้านใหม่ ซื้อมอเตอร์ไซด์ ปิคอัพ ตู้เย็น 

วันที่คนทำงานเพียงไม่กี่ปี ก็มีบ้านหลายหลัง มีรถหลายคัน

วันที่ร้านอาหาร  ภัตตาคาร ……. หนาแน่นไปด้วยลูกค้ามาฉลองความร่ำรวย

วันที่คนไทยจำนวนมาก มีแต่รอยยิ้มและความสุข

เรามีมาแล้วจริงๆนะ

มันคือฝันที่เป็นจริง ก่อนจะกลายเป็นฝันร้าย 

ครับ ผมกำลังพูดถึงฟองสบู่ที่แตกเมื่อปี 2540

จนทำให้ประเทศ “เสือตัวที่ห้า” กลายเป็น “แมวตัวที่หนึ่ง”  ในบัดดล

เพราะเราไม่รู้จักคำว่า ความเสี่ยง  เราไม่มีระบบตรวจสอบที่ดีพอ เราประมาท แม้มีผู้เตือน เราก็ไม่ฟัง  แล้วทุกอย่างก็พังทลายลง เพราะวันนั้นเราไม่มีธรรมาภิบาล

วันนี้ สังคมของเรามีธรรมาภิบาลที่ดีขึ้นมาก ทุกคนรู้หน้าที่ และท่านในฐานะ IA ก็เป็นน็อตตัวหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง 

ภารกิจของท่านมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Financial Audit, Performance Audit, Compliance Audit, Management Audit, IT Audit, และมีความท้าทายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นการนำ AI มาใช้ในงาน IA เป็นต้น

ผมทิ้งท้ายว่า มาถึงวันนี้ กระแสสังคมโลกกำลังพูดถึง ESG Audit กับ Sustainability กันแล้ว ดังนั้น นับตั้งแต่บอร์ด ซีอีโอ ซีเอฟโอ และ IA เอง ก็จะต้องมีบทบาทสำคัญ ในการก่อให้เกิดสิ่งนี้ด้วย 

เพื่อช่วยกันสร้างธรรมาภิบาล และความยั่งยืน ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง