เปิดแนวทาง! ทำร้านอาหารเมื่อมีหุ้นต่างชาติ

เปิดแนวทาง! ทำร้านอาหารเมื่อมีหุ้นต่างชาติ

การเปิดร้านอาหารในประเทศไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ สามารถทำได้จริงหรือไม่ หากเป็นนักลงทุนต่างชาติ 100% หรือจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนที่เป็นคนไทยอยู่ สัดส่วนการถือหุ้นควรเป็นเท่าไหร่ และมีเงื่อนไขอย่างไร

​“อาหาร” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพค้าขายอาหาร ทั้งแบบซื้อกลับ และรูปแบบร้านอาหารนั่งรับประทานที่ร้าน โดยเฉพาะคนไทยเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายด้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารจีน อาหารเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินเดีย เป็นต้น ก็สามารถหาซื้อรับประทานได้ไม่ยาก

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นชาวต่างชาติอยู่จำนวนไม่น้อย แต่การเปิดร้านอาหารในประเทศไทยโดยนักลงทุนต่างชาตินั้น สามารถทำได้จริงหรือไม่ หากเป็นนักลงทุนต่างชาติ 100% หรือจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนที่เป็นคนไทยอยู่ สัดส่วนการถือหุ้นควรเป็นเท่าไหร่ และมีเงื่อนไขในการทำร้านอาหารที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติอย่างไร ไปหาคำตอบพร้อมกันในบรรทัดต่อจากนี้   ​

  • ธุรกิจร้านอาหารถือเป็น “ธุรกิจในบัญชีสาม”

การประกอบธุรกิจร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ ตามหลักการแล้วถือเป็นธุรกิจในบัญชีสาม ซึ่งหมายถึง หากมีการเปิดร้านอาหารที่มีหุ้นส่วนเป็นชาวต่างชาติ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้

ทั้งนี้ ธุรกิจในบัญชีมีทั้งหมด 21 ธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย

1.การสีข้าว
2.การทำการประมง
3.การทำป่าไม้
4.การผลิตไม้อัด
5.การผลิตปูนขาว
6.การทำกิจการบริการทางบัญชี
7.การทำกิจการบริการทางกฎหมาย
8.การทำกิจการบริการทางสถาปัตยกรรม
9.การทำกิจการบริการทางวิศวกรรม
10.การก่อสร้าง
11.การทำกิจการนายหน้าหรือตัวแทน
12.การขายทอดตลาด
13.การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมืองที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามไว้
14.การค้าปลีกสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำรวมทั้งสิ้นน้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท หรือที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่ายี่สิบล้านบาท
15.การค้าส่งสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท
16.การทำกิจการโฆษณา
17.การทำกิจการโรงแรมเว้นแต่บริการจัดการโรงแรม
18.การนำเที่ยว
19.การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม
20.การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช
21.การทำธุรกิจบริการอื่น ยกเว้นธุรกิจบริการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในข้อ 19 การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม จัดเป็นธุรกิจที่สามารถมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างประเทศได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก่อนนั่นเอง

  • ต่างชาติอยากถือหุ้นในธุรกิจร้านอาหารในไทย ต้องทำอย่างไร

​อย่างที่ทราบไปแล้วว่าการประกอบธุรกิจร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติได้ แต่นอกจากจะต้องขออนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ยังมีเงื่อนไขในการถือหุ้นด้วย ซึ่งไม่สามารถถือหุ้น 100% ได้ โดยสามารถอธิบายดังนี้

- ถือหุ้นต่างชาติไม่เกิน 49% คือมีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ไม่เกิน 49% บริษัทที่จัดตั้งจะถือเป็นบริษัทสัญญาติไทย สามารถประกอบกิจการได้ทุกอย่างตามกฎหมายกำหนด

- ถือหุ้นต่างชาติตั้งแต่ 50% ขึ้นไป คือมีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไป จะถือเป็นบริษัทต่างด้าว ต้องขอใบประกอบธุรกิจต่างด้าว และมีข้อจำกัดคือ ห้ามถือครองที่ดิน และห้ามประกอบธุรกิจบางประเภท

ได้แก่ประเภทธุรกิจที่กำหนดอยู่ในบัญชีหนึ่ง ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว) เช่น กิจการวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ การทำนา ทำสวน จะสงวนไว้สำหรับคนไทย เป็นต้น หรือต้องได้รับอนุญาตก่อนสำหรับการประกอบธุรกิจที่อยู่ในบัญชีสอง หรือบัญชีสามท้าย พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

  • เช็กลิสต์! เอกสารใดบ้างใช้เพื่อขอหนังสือรับรองคนต่างชาติ 

1.คำขอหนังสือรับรอง ต.๖
2.คำชี้แจงประเภทธุรกิจที่แจ้งเพื่อขอหนังสือรับรอง
3.หลักฐานการเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งแสดงรายการเกี่ยวกับ ชื่อ ทุน วัตถุประสงค์ ที่ตั้ง รายชื่อและสัญชาติกรรมการและมีผู้อำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล
4.หนังสือแจ้งสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าว จำนวนหุ้น ประเภท หรือชนิดของหุ้นที่บุคคลสัญชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนถือ
5.ในกรณีผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วน ข้างมากของผู้แจ้งเพื่อขอรับหนังสือรับรองมีฐานะเป็นนิติบุคคลให้ส่งหลักฐานหรือเอกสารการเป็นนิติบุคคลซึ่งแสดงรายการเกี่ยวกับชื่อ ทุน วัตถุประสงค์ที่ตั้งสำนักงาน รายชื่อและสัญชาติกรรมการ และผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลรายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้น หรือรายละเอียดของผู้เป็นหุ้นส่วน
6.หนังสือรับรองสัญชาติของผู้แจ้งเพื่อขอใช้สิทธิจากสถานทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศไทย
7.สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าว
8.แผนที่แสดงที่ตั้งโดยสังเขปของสถานที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
9.หนังสือมอบอำนาจในกรณีให้บุคคลอื่นเป็นผู้กระทำการแทน

สรุป

​ในกรณีที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน จึงจะประกอบธุรกิจร้านอาหารได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม​​

ตลอดจนการถือหุ้นของนักลงทุนชาวต่างชาติ ไม่สามารถถือหุ้นคนเดียว 100% ได้ ด้วยเหตุนี้ก่อนที่ชาวต่างชาติจะเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจร้านอาหารในไทย จะต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดี พร้อมกับยื่นเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน เพียงเท่านี้ธุรกิจขอคุณก็จะมีหุ้นส่วนต่างชาติแบบถูกต้อง หมดปัญหาที่จะตามมาแล้ว  

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting