ค่าเงินบาทวันนี้ 22ก.ย.66 ‘แข็งค่า’ เหตุดอลลาร์อ่อน-แรงเก็งกำไรเยนญี่ปุ่น

ค่าเงินบาทวันนี้ 22ก.ย.66 ‘แข็งค่า’ เหตุดอลลาร์อ่อน-แรงเก็งกำไรเยนญี่ปุ่น

ค่าเงินบาทวันนี้ 22 ก.ย.66 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 36.11 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินบาทพลิกแข็งค่าเล็กน้อยตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD และการปรับสถานะเก็งกำไรเงินเยนญี่ปุ่น มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.00-36.35 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ที่ระดับ 36.11 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับ ปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.16 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.35 บาทต่อดอลลาร์  

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในช่วง 36.10-36.28 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของราคาทองคำ หลังธนาคารกลางอังกฤษ(BOE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25% กดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงหนัก 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD และการปรับสถานะเก็งกำไรเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้

ค่าเงินบาทวันนี้ 22ก.ย.66 ‘แข็งค่า’ เหตุดอลลาร์อ่อน-แรงเก็งกำไรเยนญี่ปุ่น

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นการขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) อย่างต่อเนื่อง ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน 

นอกจากนี้ การกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยบ้างของนักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้า รวมถึง การย่อตัวลงของราคาน้ำมันดิบ ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

 ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นปัจจัยที่สามารถกดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ ซึ่งกรณีที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าได้ชัดเจน ควรเห็นทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ โดยเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ทำให้ตลาดเริ่มไม่เชื่อใน Dot Plot ใหม่ของเฟด

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ (ในช่วงราว 10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย และช่วงการแถลงต่อสื่อมวลชนของผู้ว่าฯ BOJ ในช่วง 13.30 น.) เพราะหาก BOJ มีการส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น (หรือมีความ hawkish มากขึ้น) ก็อาจหนุนให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งอาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี ท่าทีดังกล่าวก็สามารถหนุนให้บอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อราคาทองคำ และหากราคาทองคำย่อตัวลงก็สามารถกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้เช่นกัน ทำให้ค่าเงินบาทอาจผันผวนได้พอสมควรในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องและออกมาดีกว่าคาด รวมถึงท่าทีของเฟดที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) โดยภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 4.50% กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลงแรง(Amazon -4.4%, Nvidia -2.9%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.82% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด-1.64%  

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาดิ่งลงกว่า -1.30% ท่ามกลางความกังวลว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ กดดันให้บรรดาหุ้นที่อ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ ต่างปรับตัวลดลง อาทิ หุ้นเทคฯ หุ้นสไตล์ Growth (SAP -1.1%, Hermes -5.9%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto -2.7%) หลังราคาแร่โลหะเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงนี้

ในฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของเฟด รวมถึงธนาคารกลางหลักอื่นๆ ที่แม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมล่าสุด ทว่า บรรดาธนาคารกลางดังกล่าวก็อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวต่างปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงออกมาดีกว่าคาดก็มีส่วนช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.50% สูงกว่าที่เราเคยประเมินไว้พอสมควร ทั้งนี้ ในช่วงระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อ โดยต้องจับตาทิศทางนโยบายการเงินของ BOJ ในวันนี้ ว่าจะมีการส่งสัญญาณพร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งหาก BOJ ส่งสัญญาณดังกล่าวก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นได้บ้าง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideway โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างตามการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ และบางส่วนก็ทยอยปรับสถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 105.4 จุด (กรอบ 105.2-105.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และท่าทีของบรรดาธนาคารกลางหลักที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาดCOMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงและยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับในระยะสั้น ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งในระยะหลังที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า ทาง BOJ อาจจะเริ่มมีการสื่อสารต่อตลาดการเงิน ว่า BOJ อาจพร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางที่จะบรรลุเป้าหมายของ BOJ ได้ โดยเราประเมินว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.10% และยังคงใช้นโยบาย Flexible Yield Curve Control อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่นกอปรกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (ตลาดคาดอัตราเงินเฟ้อ CPI ญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม อาจอยู่ที่ระดับ 3.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ Core-Core CPI ที่ไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน จะยังคงสูงกว่า4.3%) อีกทั้งการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ อาจทำให้ผู้ว่าฯ BOJ เริ่มส่งสัญญาณในลักษณะที่มีความ hawkish มากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเยนญี่ปุ่นซึ่งจะช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้บ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อญี่ปุ่นที่เป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิ (Net Energy Importer) 

และนอกเหนือจากผลการประชุมของ BOJ เราประเมินว่า ตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยเฉพาะ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing and Services PMIs) เดือนกันยายน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์และสกุลเงินอื่นๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ