ค่าเงินบาทวันนี้ 8 ส.ค.66 ‘อ่อนค่า’ รอจับตาเงินเฟ้อสหรัฐ-การเมืองไทยกดดัน

ค่าเงินบาทวันนี้ 8 ส.ค.66 ‘อ่อนค่า’ รอจับตาเงินเฟ้อสหรัฐ-การเมืองไทยกดดัน

ค่าเงินบาทวันนี้ 8 ส.ค. 66 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐในวันพฤหัส ดอลลาร์แกว่งกรอบเดิม และเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ จากความไม่แน่นอนการเมืองไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.70-34.95 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.95 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า "ค่าเงินบาท"เคลื่อนไหวในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.78-34.90 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำยังคงแกว่งตัวในกรอบเดิม

ค่าเงินบาทวันนี้ 8 ส.ค.66 ‘อ่อนค่า’ รอจับตาเงินเฟ้อสหรัฐ-การเมืองไทยกดดัน

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมองว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ทว่า เราประเมินว่า จากสถานการณ์การเมืองล่าสุดนักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้เทขายหุ้นไทยมากขึ้นและเริ่มเห็นแรงขายหุ้นไทยที่ลดลงจากช่วงก่อนหน้า ทำให้เรามองว่าหากมีสัญญาณที่ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยจะสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ นักลงทุนต่างชาติก็อาจมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดทุนไทยมากขึ้นและเริ่มทยอยกลับมาเป็นฝั่งซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิ ซึ่งจะช่วยทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมาก โดยเรายังคงประเมินโซนแนวต้านสำคัญไว้ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแรกแถว 34.75 บาทต่อดอลลาร์ มาได้ในช่วงวันก่อนหน้า ทั้งนี้ หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ (ซึ่งเราคาดว่าต้องเห็นความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลก่อน) เราประเมินโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญแรก และโซน 34.25 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวรับถัดไปในระยะสั้น

นอกจากนี้ ทิศทางเงินดอลลาร์อาจเริ่มเข้าสู่ช่วงแกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดต่างก็มีสถานะ Short เงินดอลลาร์อยู่ (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่า) และรอจังหวะในการเพิ่มสถานะ Short เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมา

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด (ราว 85% ของบริษัทที่ได้รายงานผลประกอบการนั้น มีผลกำไรดีกว่าคาด) รวมถึงแรงซื้อหุ้นในจังหวะย่อตัว หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวแรงในสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.90%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.09% หนุนโดยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน(Sentix Investor Confidence) เดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวขึ้น ดีกว่าคาด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นทั้งรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรป

ในฝั่งตลาดบอนด์ แรงขายบอนด์ระยะยาวฝั่งสหรัฐฯ เริ่มชะลอลงบ้าง ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวsideway ใกล้ระดับ 4.08% (กรอบ 4.05%-4.12%) โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟดจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่านักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (ยังคงเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ถือว่าน่าสนใจ โดยเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอีกไม่มากนัก (มองบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ อาจไม่ทะลุระดับ 4.30%) ขณะที่ การปรับตัวลดลงยังมีโอกาสพอสมควร (คงเป้าปลายปี บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ แถว 3.50%) ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรือ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideway โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ102.1 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง ในช่วงที่บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง ในส่วนของราคาทองคำเนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานยอดการค้าเดือนกรกฎาคมโดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) จะยังคงหดตัวกว่า -12.6%y/y กดดันโดยการชะลอตัวของบรรดาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว (ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จุด) นอกจากนี้ การฟื้นตัวในประเทศที่ยังคงซบเซาจะกดดันให้ยอดการนำเข้า (Imports) ยังคงหดตัว-5.3%y/y ทั้งนี้ ในระยะถัดไป เราคาดว่า ยอดการค้าของจีน โดยเฉพาะในฝั่งนำเข้าอาจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังทางการจีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ อาทิ อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนี ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ก็อาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้

นอกจากนี้ เรามองว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ยังคงเป็นปัจจัยที่ควรติดตามใกล้ชิดและอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ และส่วนในฝั่งไทย สถานการณ์การเมืองไทยจะยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อรอลุ้นการจัดตั้งว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่และการโหวตเลือกนายกฯ