ค่าเงินบาทวันนี้ 13 ก.ย.66 ‘แข็งค่า’ ตามแรงขายทำกำไรค่าเงินดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ 13 ก.ย.66 ‘แข็งค่า’  ตามแรงขายทำกำไรค่าเงินดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ 13 ก.ย.66 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 35.59 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินบาทหลังดอลลาร์ย่อตัวลง ตามแรงขายทำกำไร เงินและมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าในช่วงระหว่างวัน หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.50-35.70 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้"เปิดเช้านี้ ที่ระดับ35.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.65 บาทต่อดอลลาร์ 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.70 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 35.40-35.75 บาทต่อดอลลาร์  ในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

ค่าเงินบาทวันนี้ 13 ก.ย.66 ‘แข็งค่า’  ตามแรงขายทำกำไรค่าเงินดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า "ค่าเงินบาท"เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 35.58-35.75 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าไปตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก่อนที่เงินบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไร หลังดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 105 จุด 

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงระหว่างวัน หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย ทว่าเงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็เริ่มชะลอลง ซึ่งเป็นไปได้ว่า นักลงทุนต่างชาติต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนนี้เช่นกัน 

 

และนอกเหนือจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ เรามองว่าโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวก็มีโอกาสกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้าง หลังราคาทองคำได้ย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับสำคัญ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจอยากลุ้นการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ หากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 

ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ (จะรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า เงินบาทสามารถแกว่งตัว อ่อนค่าลง 0.2% และแข็งค่าขึ้นได้ราว 0.4% ภายใน 30 นาที หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยเรายังให้โอกาสเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป headline CPI ที่ปรับตัวขึ้นนั้นก็เป็นผลจากราคาพลังงานเป็นหลัก ซึ่งเฟดอาจให้น้ำหนักต่อทิศทางของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI มากกว่า 

ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

ความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินเฟดยังคงกดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนมองว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอลงช้า จากการที่ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth พลิกกลับมาปรับตัวลดลง (Tesla -2.2%, Microsoft -1.8%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน(Exxon Mobil +2.9%)  ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.04% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.57% 

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.18% กดดันโดยแรงขายหุ้นธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (L’Oreal -1.4%, LVMH -1.1%) หลังผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจในแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +1.1%, Total Energies +0.9%) รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเพิ่มโอกาส ECB คงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้

ในฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหว sideway ใกล้ระดับ 4.30% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นได้บ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น อนึ่ง ในวันนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว +/-10bps ในช่วงภายใน 30 นาที หลังการทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อCPI สหรัฐฯ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ณ ระดับปัจจุบันยังคงมีความน่าสนใจและคุ้มค่าในแง่Risk/Reward 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนพอสมควร โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลง ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อCPI สหรัฐฯ และผลการประชุม ECB ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.5 จุด(กรอบ 104.5-105 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI อาจเร่งขึ้น +0.6%m/m (หรือ +3.6%y/y) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานเป็นสำคัญ ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI จะเพิ่มขึ้นเพียง +0.2%m/m (+4.3%y/y ชะลอลงต่อเนื่อง) ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนสิงหาคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 จุด จากระดับ 55.6 จุด ในเดือนก่อนหน้า หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้เสร็จสิ้นลง ช่วยลดความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศและสร้างความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันอาจยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง