จาก ‘ลิซ ทรัสส์’ ถึง ‘เศรษฐา’ เมื่อตลาดลงโทษนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกินกว่าเหตุ

จาก ‘ลิซ ทรัสส์’ ถึง ‘เศรษฐา’ เมื่อตลาดลงโทษนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกินกว่าเหตุ

จาก "ลิซ ทรัสส์" ถึง "เศรษฐา ทวีสิน" ชวนถอดบทเรียนการดำเนินนโยบายทางภาษี และการคลังของทรัสส์ ที่สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักร จนมีจุดจบที่ตลาดพันธบัตรปั่นป่วน นำมาซึ่งการลงจากตำแหน่งเพียง 45 วันหลังจากเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคล้ายกับประเทศไทยปัจจุบัน

Key Points

  • ประเทศไทยใช้เวลากว่า 4 เดือนหลังจากวันเลือกตั้งจึงจะได้นายกรัฐมนตรี
  • รัฐบาลไทยมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความต้องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน 
  • ลิซ ทรัสส์ พยายามดำเนินนโยบายทางภาษี และการคลังแบบผ่อนคลาย หวังให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรกลับไปโตที่จุดเดิม ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

 

เส้นทางในการได้มาซึ่ง “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราเลือกตั้งกันตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2566 แต่กว่าจะตั้งรัฐบาลของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” ได้ เวลาก็ล่วงเลยไปกว่า 4 เดือนนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง 

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าเราจะได้นายกฯ พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรี (ที่ส่วนใหญ่เป็นบุคคลหน้าเดิม) แล้ว แต่อุปสรรคแรกที่รัฐบาลชุดนี้เผชิญคือ “ข้อครหา” เรื่องการใช้นโยบายประชานิยม กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินแบบมหาศาล อย่างกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท การประกาศลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท/หน่วย รวมไปถึงการสั่งลดราคาน้ำมันดีเซลลงมาต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร 

ส่วนใหญ่ล้วนเป็นนโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมหรือการเติบโตใดๆ ในอนาคต เว้นเสียจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น

นอกจากนี้ หากสุดท้ายมาตรการการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นความต้องการซื้อของประชาชนครั้งนี้ได้ผล ก็อาจจะสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ชั่วคราว ทว่ารัฐบาลก็จำเป็นต้องตอบคำถามสาธารณชนให้ได้อย่างชัดเจนว่า “แหล่งเงินทุน” ในการดำเนินนโยบายเหล่านั้นมาจากที่ใด รวมทั้งสมเหตุสมผลกับรายได้ของรัฐบาลหรือไม่ 

เพราะหากสุดท้ายเกิดการมิสแมตช์กันระหว่างรายรับของรัฐบาล และรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่สามารถระบุที่มาของเงินทุนได้ รัฐบาลของนายกฯเศรษฐา อาจตกอยู่ในที่นั่งลำบาก คล้ายกับเมื่อครั้งรัฐบาลของลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ต้องลงจากตำแหน่งหลังจากปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 45 วัน เพราะต้องการดำเนินนโยบายทางภาษี และการคลังแบบผ่อนคลาย และเข้าอุ้มราคาพลังงาน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ตึงตัว 

บทเรียนจากสหราชอาณาจักรและ ลิซ ทรัสส์

ย้อนกลับไปในช่วงการเข้ารับตำแหน่งช่วงแรกของทรัสส์ และควาซี ควาร์เต็ง (Kwasi Kwarteng) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เธอประกาศใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายทันที ประกอบกับเข้าอุ้มราคาพลังงาน โดยหวังให้เศรษฐกิจสหรัฐอาณาจักรกลับไปโตที่ 2.5% ก่อนวิกฤตการณ์เงินปี 2008 ท่ามกลางเงินเฟ้อในประเทศช่วงนั้นปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 9-11% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจาก 0% ไปอยู่ที่ 2.25% ในช่วงเวลานั้น 

โดย ในวันที่ 8 ก.ย.2565 หลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียง 2 วัน ทรัสส์ประกาศโครงการจำกัดค่าไฟในภาคครัวเรือน เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 

ต่อมาในวันที่ 23 ก.ย.2565 ควาร์เต็ง ประกาศใช้นโยบายทางการคลังที่ชื่อว่า “Mini Budget” หรืองบประมาณขนาดเล็กที่เตรียมใช้เงินกว่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) แบ่งเป็นการอุดหนุนราคาพลังงาน 6 หมื่นกว่าล้านปอนด์ และในอีก 5 ปีข้างหน้าก็อาจต้องกู้มาเพิ่มอีก 3 แสนล้านปอนด์ ทั้งยังเต็มไปด้วยนโยบายลดภาษีทั้งเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล รวมทั้งภาษีจากประกันสุขภาพ อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม หลังจากโครงการดังกล่าวเปิดเผยออกมา ประชาชนต่างตั้งคำถามว่า ในเมื่อไม่เก็บภาษีเพิ่ม แล้วรัฐบาลจะมี “รายได้” จากที่ไหนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากต้องกู้เงินมาเพื่อดำเนินนโยบาย ที่คล้าย “ประชานิยม” ดังกล่าว ก็จะยิ่งเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาล

จาก ‘ลิซ ทรัสส์’ ถึง ‘เศรษฐา’ เมื่อตลาดลงโทษนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกินกว่าเหตุ ทั้งยังมีคำถามว่า ท่ามกลางเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรช่วงนั้นที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อในเดือนก.ย. และ ต.ค.2565 ซึ่งเป็นช่วงการดำรงตำแหน่งของทรัสส์ สูงถึง 10.1% และ 11.1% ตามลำดับ การที่รัฐบาลยิ่งลดภาษีก็อาจนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่รุนแรงอยู่แล้ว 

จากสถานการณ์ทั้งหมดจึงกดดันให้บรรดานักลงทุน และประชาชนจำนวนมากเทขายสินทรัพย์ทุกอย่างออกมาจนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ปรับตัวสูงขึ้น และเงินปอนด์ก็อ่อนค่าลงเกือบเทียบเท่าเงินดอลลาร์

จาก ‘ลิซ ทรัสส์’ ถึง ‘เศรษฐา’ เมื่อตลาดลงโทษนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกินกว่าเหตุ ท้ายที่สุด BOE ต้องเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจพัง ทั้งหมดจึงนำมาซึ่งการลงจากตำแหน่งของ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดเพียง 45 วัน

เหลียวหน้าแลหลัง "ประเทศไทย" ยุค "เศรษฐา"

กลับมาดูสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบัน แม้ว่าจะยังไม่เลวร้ายเหมือนกับอังกฤษ แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ทำนโยบายต้องเพิ่มความระมัดระวัง

หากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงมาที่ประเทศไทย หลังจากที่รัฐบาลเศรษฐา ประกาศลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ลดราคาน้ำมันดีเซลลงต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และยืนยันแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ภายในไตรมาสแรกปีหน้า ก็ส่งผลให้ “เงินบาท” อ่อนค่าลงรุนแรงในทันที คล้ายกับช่วงที่ ทรัสส์ประกาศใช้นโยบาย Mini Budget

จาก ‘ลิซ ทรัสส์’ ถึง ‘เศรษฐา’ เมื่อตลาดลงโทษนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกินกว่าเหตุ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงจากระดับ 35.5 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 มาทำจุดอ่อนที่สุดบริเวณ 36.3 บาทต่อดอลลาร์ ในวันที่ 20 ก.ย.2566 หรืออ่อนค่าลงราว 2.3% และนับเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ารุนแรงสุดในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าจะมีปริมาณพันธบัตรเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก จากแผนการกู้เงินของรัฐบาล

โดยล่าสุดรัฐบาลประกาศออกมาแล้วว่าอุปทานพันธบัตรใหม่อยู่ที่ 1.25 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.1 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเป็นพันธบัตรออกใหม่ 7 - 7.5 แสนล้านบาท

ขณะที่บอนด์ยีลด์ของรัฐบาลไทย รุ่นอายุ 10 ปี ขยับตัวขึ้นจากระดับ 3% เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 มาอยู่ที่ระดับ 3.22% ในวันที่ 20 ก.ย.2566 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 7% ภายในเวลาไม่กี่วันทำการ สะท้อนถึงแรงเทขายพันธบัตรที่ออกมาจำนวนมากเช่นเดียวกันกับช่วงที่บอนด์ยีลด์ของสหราชอาณาจักรปรับตัวขึ้นในช่วงที่ทรัสส์ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยังไม่สามารถระบุที่มาของเงินทุนได้

จากสถานการณ์ทั้งหมด ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า

ทิศทางตลาดการเงินในประเทศไทย ทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงรวมทั้งบอนยีลด์ชนิด 10 ปี ที่ดีดตัวขึ้นคล้ายกับช่วงที่รัฐบาลของลิซ ทรัสส์ ประกาศใช้โครงการ Mini Budget

โดยถึงแม้ว่าขนาดของความเสียหายประเทศไทย อาจจะไม่มากเท่าสหราชอาณาจักรในช่วงนั้น แต่รัฐบาลไทยก็ควรนำเหตุการณ์ครั้งนั้นของทรัสส์เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำรอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจกแจงที่มาของเงินทุนในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 

“ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ได้มีปัญหาเท่าอังกฤษในช่วงของลิซ ทรัสส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ก็ไว้ใจไม่ได้ว่าการทำนโยบายที่สวนทางกับความเชื่อมั่นของตลาดก็อาจจะทำให้ตลาดเสียความเชื่อมั่นไปได้

"สุดท้ายเมื่อตลาดไม่มีความมั่นใจก็จะเทขายพันธบัตร เมื่อเทขายแล้ว อัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น และภาระของรัฐในการต้องจ่ายดอกเบี้ยก็จะเพิ่ม ก็จะยิ่งทำให้ตลาดสงสัยว่าหนี้ที่มีอยู่จะจ่ายคืนยังไงหมด ทั้งหมดก็จะเป็นปัญหาซ้ำเติมไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งปัญหาที่เกิดในอังกฤษก็อาจจะเกิดกับประเทศไทยได้

ท้ายที่สุด แม้ว่าเศรษฐกิจไทย และสหราชอาณาจักรจะมีปัจจัยที่แตกต่างกันจำนวนมาก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงเหมือนสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงเดือนก.ย. และต.ค. ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อาจสามารถนำบทเรียนของรัฐบาลลิซ ทรัสส์ไปเป็นตัวอย่างได้ว่า รัฐบาลที่ใช้นโยบายทางการคลังแบบไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และไม่สามารถระบุที่มาของรายได้ที่จะใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างชัดเจนจะมีจุดจบอย่างไร ?

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์