‘เงินบาท’ อ่อนพรวด พุ่งทะลุ 36 ต่อดอลลาร์ กังวลซัพพลายบอนด์ใหม่ทะลักปีหน้า

‘เงินบาท’ อ่อนพรวด พุ่งทะลุ 36 ต่อดอลลาร์ กังวลซัพพลายบอนด์ใหม่ทะลักปีหน้า

ค่าเงินบาทวันนี้ อ่อนค่าสุด ในรอบ10เดือน ทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ กรุงไทย ชี้จากปัจจัยในประเทศกดดัน เหตุนโยบายเน้นการเติบโต นำหน้าเสถียรภาพ ทำให้ภาพเชิงเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอลงมาก และตลาดกังวลซัพพลายบอนด์ใหม่ทะลักปีหน้า

สถานการณ์เงินบาทไทยดูไม่สู้ดีนัก หลังรัฐบาลทุ่มมาตรการในลักษณะประชานิยม เน้นการเติบโตระยะสั้น ซึ่งอาจทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาวอ่อนแอลง ประกอบกับมีแนวโน้มว่า รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตร(บอนด์) ระยะยาวเพิ่มในปีหน้า ส่งผลให้มีแรงเทขายออกมาอย่างหนักในตลาดบอนด์ไทย สะเทือนถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) ที่ขยับขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน 

การเคลื่อนไหวของเงินบาทไทยวันนี้(19ก.ย.) ณ เวลา 15.40 น. อยู่ที่ระดับ 36.01 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงราว 0.87% จากช่วงเปิดตลาดเช้า ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าลงมากสุดในภูมิภาค และยังเป็นระดับการอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนนับจากเดือนพ.ย.2565

‘เงินบาท’ อ่อนพรวด พุ่งทะลุ 36 ต่อดอลลาร์ กังวลซัพพลายบอนด์ใหม่ทะลักปีหน้า

นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งนโยบายที่เน้นการเติบโต นำหน้าเสถียรภาพ ทำให้ภาพเชิงเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอลงมาก 

ทั้งนี้ แม้ดัชนีเงินดอลลาร์จะอ่อนตัวลง แต่เงินบาทก็อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน โดยบอนด์ยิลด์ของสหรัฐปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่บอนด์ยิลด์ของไทยปรับขึ้นมาค่อนข้างแรง 

ส่วนกรณีที่มี กระแสข่าวปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) มองว่า ยังไม่น่าจะมีผลต่อค่าเงินบาทแต่อย่างใด  เพราะว่า ตลาดน่าจะคิดว่าเป็นข่าวลือมากกว่าและรัฐบาลน่าจะต้องแสวงหาการสนับสนุนจากหลายๆส่วนก่อน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าลงตามสัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในวันนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 1,117.08 ล้านบาท และ 1,740 ล้านบาท ตามลำดับ โดยแรงขายในตลาดพันธบัตรส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการออกพันธบัตรรัฐบาลของไทยที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในปีงบประมาณหน้า

นอกจากนี้ sentiment ของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะที่มีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ บางส่วนเพื่อปรับโพสิชันก่อนผลการประชุมเฟด (19-20 ก.ย.)

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) คาดไว้ที่ 35.60-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ทิศทางเงินหยวน การประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน รวมถึงผลการประชุมและ dot plot ของเฟด