ธปท.เปิด ‘เฮียริ่ง’ ปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ-เป็นธรรม 4-20ก.ย.นี้

ธปท.เปิด ‘เฮียริ่ง’ ปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ-เป็นธรรม 4-20ก.ย.นี้

ธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม 4-20 ก.ย.นี้ หวังสะกัดแบงก์ ปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ ห้ามโฆษณาเกินจริง ออกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความสามารถลูกหนี้แต่ละกลุ่ม

        ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีการ ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็น(เฮียริ่ง)เกี่ยวกับ ร่าง หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending

        โดยการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม ก็เพื่อดูแลการให้สินเชื่อและการให้ข้อมูลที่กระตุกพฤติกรรมของลูกหนี้ (Nudge) รวมทั้งการดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ครอบคลุม 8 กระบวนการตลอดวงจรหนี้ ทั้งช่วงก่อนและกำลังเป็นหนี้ 

ซึ่งมี 8หัวข้อ ที่เป็นปัจจัยสำคัญ

     1.การพัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบการผ่อนชำระที่สอดคล้องกับรายได้
ตลอดจนมีเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรมและชัดเจน
      2.การโฆษณา ต้องมีเนื้อหาถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน เปรียบเทียบได้ และต้องไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร เช่น แสดงเงื่อนไขสำคัญของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ แจ้งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดและต่ำสุด ยอดผ่อนต่องวด ระยะเวลาผ่อนชำระ
     

     โดยห้ามทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ให้รางวัลหรือของขวัญทันทีที่สมัคร หรือห้ามกำหนดเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นการเร่งรัดให้ลูกค้าใช้สินเชื่อทันทีในงวดแรกหลังได้รับการอนุมัติ เช่น รับกระเป๋าทันที เมื่อมียอดกดเงินสดตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ภายใน 30 วันแรกตั้งแต่ได้รับการอนุมัติ หรือห้ามกิจกรรมทางการตลาดโดยการจัดรายการชิงโชค จับสลาก ที่เข้าข่ายพนัน เช่น สมัครสินเชื่อวันนี้ ลุ้นรับทองคำทันที, กู้หลักหมื่น ลุ้นรับคืนหลักแสน

      3.การเสนอขาย ต้องไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้า เสนอทางเลือกและให้ข้อมูลสำคัญครบถ้วน ทั้งข้อดี ข้อเสีย เพียงพอต่อการตัดสินใจในการใช้บริการ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตนเองได้
      4.การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) ให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกค้า
      5.การส่งเสริมวินัยและการจัดการทางการเงินในช่วงเป็นหนี้ ด้วยการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (Nudge) ผ่านการให้ข้อมูลเงื่อนไข คำเตือนสำคัญที่ควรรู้ หรือเครื่องมือที่สนับสนุนวินัยทางการเงิน เช่น แจ้งเตือนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตรงเวลา แสดงผลของการจ่ายขั้นต่ำต่อเนื่อง
      6.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) โดยเริ่มจากกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (Revolving Personal Loan) ที่มีรายได้น้อย โดยเสนอทางเลือก (Opt in) ให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี
       7.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ โดยเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ทั้งในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-
emptive) สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาชำระหนี้แต่ยังไม่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ อย่างน้อย 1 ครั้ง

       และกรณีหนี้ที่มีปัญหา (Troubled Debt Restructuring) สำหรับลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะก่อนดำเนินคดีและการโอนขายหนี้
      8.การดำเนินคดีและการโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยหนี้และโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่นด้วย
        สำหรับ หลักเกณฑ์ Responsible Lending จะช่วยให้ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่อย่างมีคุณภาพ ได้รับการช่วยเหลือเมื่อเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ รวมถึงสนับสนุนลูกหนี้ให้มีวัฒนธรรมสินเชื่อที่ดี (Good Credit Culture) และมีวินัยการเงินที่ดีขึ้น

      ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

        โดย ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2566 เพื่อนำไปประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)และคาดจะบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวได้ราว 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป