ถกประเด็น! รู้ยัง เป็นแม่ค้าขายเครื่องประดับก็ต้องเสียภาษี

ถกประเด็น! รู้ยัง เป็นแม่ค้าขายเครื่องประดับก็ต้องเสียภาษี

ทำธุรกิจขายเครื่องประดับ ผู้ขายอาจยังสับสนว่าจะต้องเสียภาษีด้วยหรือไม่ เนื่องจากเป็นสินค้ากระจุกกระจิก รายได้ไม่เยอะเหมือนสินค้าอื่นๆ แต่ทราบไหมว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กใหญ่ต้องเสียภาษีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

หลายคนหนีจากการเป็นพนักงานประจำ หันหลังให้กับการทำงาน Full Time แล้วใช้ชีวิตแบบอิสระด้วยการเลือกค้าขาย ซึ่งการค้าขายก็มีสินค้าหลากหลายที่สามารถนำมาขายได้ อย่างเช่น บางรายนำทุกอย่างมาขาย และหลายรายก็เลือกขายแค่สินค้าบางอย่างที่ตนเองสามารถควบคุมการดำเนินงานได้ เพราะจะต้องมีการเสียภาษีด้วย

และสินค้าที่หลายคนมองข้ามอย่าง “เครื่องประดับ” ซึ่งมีทั้งที่เป็นสินค้าในประเทศและนำเข้ามาเพื่อขายในประเทศไทย ผู้ขายอาจยังสับสนว่าจะต้องเสียภาษีด้วยหรือไม่ เนื่องจากเป็นสินค้ากระจุกกระจิก รายได้ไม่เยอะเหมือนสินค้าอื่นๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กซื้อมาขายไป หรือธุรกิจขนาดใหญ่ผลิต นำเข้าและจำหน่ายรายรับและรายจ่ายของกิจการจะต้องนำมาหักลบเพื่อเสียภาษีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดดังนี้

  • รายจ่ายจากการขายเครื่องประดับแบบไหนมีผลต่อภาษี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

รายจ่ายที่ผู้ขายเครื่องประดับได้มีการใช้จ่ายออกไป ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ จากผู้ขายที่เป็นนิติบุคคลและได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะถูกเก็บภาษี 7% จากรายจ่ายนั้นๆ และผู้ขายออกใบกำกับภาษีให้

ทั้งนี้ ในกรณีที่กิจการในฐานะเป็นร้านขายเครื่องประดับที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อถูกหักภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะต้องจัดเก็บใบกำกับภาษีไว้เพื่อใช้สำหรับคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือน และเพื่อเป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีเงินได้ รวมถึงกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ และจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบเพื่อส่งกรมสรรพากรด้วย

ภาษีศุลกากร

เนื่องจากกิจการขายเครื่องประดับ ในบางกรณีมีการผลิตและขายเครื่องประดับที่อาจมีวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือบางรายการ ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อประกอบธุรกิจ ด้วยเหตุนี้กิจการจึงมีหน้าที่ต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้า โดยสามารทำได้ดังนี้  

1.ลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยลงทะเบียนเฉพาะครั้งแรกเท่านั้น

2.ผ่านพิธีการนำเข้าสินค้าโดยต้องศึกษาเรื่องพิกัดอัตราภาษีศุลกากรตามประเภทของสินค้าที่นำเข้า เช่น 30% สำหรับสินค้าประเภท เครื่องสำอาง หมวก น้ำหอม รองเท้า ผ้าห่ม ร่ม 20% สำหรับสินค้าประเภท กระเป๋า 10% สำหรับสินค้าประเภท CD DVD อัลบั้ม Power Bank หูฟัง Headphone Earphones ตุ๊กตา และ 5% สำหรับสินค้าประเภท นาฬิกา แว่นตา แว่นกันแดด

โดยในส่วนของเครื่องประดับ อัญมณี บางพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ไม่ต้องเสียอากรขาเข้า

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ในกรณีที่กิจการผลิตและขายเครื่องประดับในนามนิติบุคคล เมื่อมีการจ้างพนักงานประจำ ลูกจ้าง ต้องทำการหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย กับพนักงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนด เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปที่จ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง หรือโบนัส เป็นต้น

  • รายรับจากการขายเครื่องประดับแบบไหนมีผลต่อภาษี

พ่อค้าแม่ค้าที่ขายเครื่องประดับ มีทั้งแบบที่ขายในประเทศไทยและขายเพื่อการส่งออก ซึ่งมีภาษีเครื่องประดับที่เกี่ยวข้องดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับกิจการที่ขายเครื่องประดับแบบไม่ได้จดทะเบียนบริษัท จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งรายรับที่ได้จากการขายเครื่องประดับ จัดเป็นเงินได้มาตรา 40(8) (เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8) จะต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) โดยให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
และยื่นภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) โดยให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษีนั้น ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป พร้อมกับนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับกิจการที่ขายเครื่องประดับในนามนิติบุคคล ต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) คือรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี และยื่นเสียภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เมื่อสิ้นรอบเวลาบัญชี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตามหลักการเจ้าของกิจการเครื่องประดับมีผลประกอบการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ พร้อมออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อส่งมอบสินค้าทุกครั้ง รวมถึงมีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ รายงานภาษีขาย และยื่นแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนให้กับกรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป 

และหากกิจการมีการขายเครื่องประดับเพื่อส่งออกด้วย จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเสียภาษีในอัตรา 0% และยื่นใบขนของขาออกเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร เพื่อเสียอากรขาออกตามที่กฎหมายกำหนด

สรุป

ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้าที่กำลังคิดอยากขายเครื่องประดับ อย่าลืมเสียภาษีให้ตรงกับประเภทธุรกิจของตนเอง อย่างเช่น แม่ค้าขายเครื่องประดับในนามบุคคลธรรมดา ไม่ได้จดทะเบียนบริษัท ก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือเมื่อได้รับใบกำกับภาษีจากการซื้อวัสดุอุปกรณ์ของกิจการ ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้

​แต่หากเป็นกิจการค้าขายเครื่องประดับที่จดทะเบียนนิติบุคคล ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อกิจการมีการใช้บริการตามประเภทรายจ่ายที่กฎหมายกำหนด และหากจดภาษีมูลค่าเพิ่ม จะสามารถนำภาษีซื้อมาหักลบภาษีขาย ขอคืนภาษีซื้อ หรือเครดิตภาษีขายได้  ซึ่งจะช่วยทำให้ประหยัดภาษีได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting