Financial Literacy ความรู้ในการวางแผนทางการเงิน

ความรู้ในการวางแผนทางการเงินสำคัญอย่างไร ทำไมจะต้องรอบรู้ในเรื่องนี้? ลองหันมามองดูตัวเราหรือคนรอบข้างดูว่า สถานะการเงินเป็นอย่างไรกันบ้าง

หลายคนมีเงินใช้แค่เดือนชนเดือน ไม่เคยเหลือเงินเก็บ ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงินทุกใบ อยากจะซื้อของชิ้นใหญ่ก็ไม่มีเงินเก็บที่มากพอ นั่นเป็นเพราะ “ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงิน” 

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ระบบการทำงานก็มักจะประสบปัญหาเรื่องการเงินส่วนบุคคล คือแม้จะเริ่มทำงานหาเงินได้เองแล้ว แต่เงินเดือนเริ่มต้นยังไม่สูง ในขณะที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในชีวิตทุกอย่าง ประกอบกับคนในยุคนี้มีเรื่องใช้จ่ายหลากหลายกว่าคนรุ่นก่อนๆ

หลายคนต้องกันเงินไว้สำหรับค่าสมาชิก (membership fee) ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการกีฬาหรือความบันเทิง หลายคนมีค่าใช้บริการรายเดือน (subscription fee) เพื่อเข้าถึงการใช้สื่อโซเชียล แพลตฟอร์ม และแอพพลิเคชั่นต่างๆ

หลายคนต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมในการเข้าร่วมหลักสูตรระยะสั้น ทั้งในรูปแบบการเข้าร่วมสัมมนาเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายธุรกิจ หรือหลักสูตรเสริมความรู้ทางออนไลน์ที่มีมานำเสนออยู่ตลอดเวลา

ที่ผ่านมา มีสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับคนไทยอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่วิกฤตโควิดไปจนถึง ภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า ทั้งสภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจากร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี

ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาบ้านขยับตัวสูงขึ้นตามราคาวัสดุก่อสร้างและราคาที่ดินที่สูงขึ้น สวนทางกับเงินเก็บ-เงินออมที่ลดลง ส่งผลผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด

ผู้บริโภคจะมีทางเลือกไม่มากนัก ต้องเลือกบ้านที่ขนาดเล็กลง หรือต้องเลือกบ้านในพื้นที่ที่ไกลขึ้น เพื่อให้ได้ราคาที่จะอยู่ในวงเงินที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อ ไม่ใช่บ้านที่อยากได้ และยังเป็นการเพิ่มภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้นด้วย

ประกอบกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ยึดติดกับสถานที่ทำงาน หากลงทุนซื้อบ้านไว้ใกล้ที่ทำงานก็อาจจะกลายเป็นไกลที่ทำงานแห่งใหม่ จึงมีหลายคนที่ตัดสินใจเช่ามากกว่าซื้อ เพราะมีความยืดหยุ่นสูงกว่า

คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จึงไม่มีการวางแผนจะซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นของตนเอง ทำให้การเป็นเจ้าของบ้านจึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะเอื้อมถึง

ความรู้ในการวางแผนทางการเงิน หรือ Financial Literacy จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจก็จะทำให้สามารถวางแผนการเงินได้ดีขึ้น

Financial Literacy ความรู้ในการวางแผนทางการเงิน

เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนนี้ต้องทำอย่างครบวงจร ลูกหนี้เองต้องสำรวจความพร้อม ศึกษา-วางแผนให้ดีก่อนจะก่อหนี้ ต้องมีวินัยการเงินเพื่อจ่ายหนี้ให้ตรงเวลาและเงื่อนไข หลีกเลี่ยงเบี้ยปรับและดอกเบี้ยแพงๆ

ส่วนสถาบันการเงินผู้ให้กู้ ต้องเป็นเจ้าหนี้ที่มีความรับผิดชอบ ปล่อยสินเชื่อที่พอเหมาะกับลูกหนี้แต่ละราย ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้จ่ายและไม่สะสมหนี้

นอกจากนี้แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องร่วมกันพัฒนากลไกการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหา ให้ความรู้ทางการเงิน ปรับปรุงฐานข้อมูลสินเชื่อให้สะท้อนความสามารถในการจ่ายหนี้ได้แม่นยำขึ้นโดยไม่ลดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ

ในมุมของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยุ้ยเองมองว่าก็ต้องหาทางช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยแนวคิดใหม่ๆและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแต่ต้องประสบปัญหาการขอสินเชื่อ

นั่นคือเหตุผลที่ยุ้ยผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ในเครือ ซึ่งให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการซื้อบ้านแต่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือติดปัญหาต่างๆ โดยมีแนวทางให้แก่ลูกค้าที่มีแนวโน้มกู้ไม่ผ่านให้สามารถมาใช้บริการทางเลือกนี้ได้

รวมถึงเพื่อเป็นการตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่อยากมีบ้านแต่ยังไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินก้อนใหญ่ในขณะนี้ โครงการในเครือเสนาฯ ก็มาพร้อมข้อเสนอที่ดีในเรื่อง “การเช่าซื้อ” ที่สามารถเปลี่ยนค่าเช่าที่เสียรายเดือนมาตลอดนั้น เป็นการซื้อและสามารถเป็นเจ้าของได้ในที่สุด.