ขาดสภาพคล่อง รายได้หด ขอสินเชื่อยาก หนี้พุ่ง: เกิดอะไรขึ้นกับอสังหาฯ จีน ?

ขาดสภาพคล่อง รายได้หด ขอสินเชื่อยาก หนี้พุ่ง: เกิดอะไรขึ้นกับอสังหาฯ จีน ?

เปิดสาเหตุ เกิดอะไรขึ้นภาคอสังหาฯ จีน ที่ทำให้นักวิเคราะห์กังวลว่าอาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ จนฉุดจีดีพีจีนปี 2566 เหลือ 3%

ก่อนอื่นต้องเล่าว่า เศรษฐกิจจีนประกอบด้วย 3 ขาหลักคือ ภาคอสังหาฯ รวมอยู่ในภาคการบริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-8% ของจีดีพีจีน ภาคการนำเข้าส่ง-ออก คิดเป็นประมาณ 20-30% ของจีดีพี และที่เหลือจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 ขาของเศรษฐกิจจีน กำลังเผชิญวิกฤติทั้งสิ้น

 

 

ถ้าเล่าแบบเฉพาะเจาะจงมาที่ภาคอสังหาฯ ภาคส่วนนี้เผชิญปัญหาทั้งหมด 3 ส่วน

1. ฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ 

เริ่มแรกคือตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ราคาบ้านในจีนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่เพราะประชาชนต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงๆ แต่นักลงทุนเข้าไปซื้อแล้วเก็งกำไร ราคาที่อยู่อาศัยเลยปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง

จนสุดท้ายเกิดเหตุการณ์ที่มีสิ่งก่อสร้างเกินความต้องการ หรือ Housing Surpluses จนมีรายงานว่า กว่า 20% ของบ้านทั้งหมดในจีน เป็นบ้านร้าง

จากนั้นรัฐบาลจีนเล็งเห็นปัญหาจึงออกมาตรการปราบปรามการเก็งกำไรอย่างรุนแรง โดยสี จิ้นผิง ออกมาพูดประโยคดังที่ว่า “บ้านมีไว้อยู่ ไม่ได้มีไว้เก็งกำไร” หนึ่งในมาตรการหลักคือการเข้มงวดการปล่อยกู้กับภาคส่วนดังกล่าวมากขึ้น

ขาดสภาพคล่อง รายได้หด ขอสินเชื่อยาก หนี้พุ่ง: เกิดอะไรขึ้นกับอสังหาฯ จีน ?

2. ผลกระทบจากโควิด-19 

ในปี 2563 ทั้งโลกเผชิญกับโควิด-19 จนต้องล็อกดาวน์ ซ้ำร้ายจีนประกาศล็อกดาวน์นานกว่าหลายประเทศ ตรงนี้ก็ส่งผลให้ยอดขายบ้านปรับตัวลดลง และผู้พัฒนาอสังหาฯ จำนวนมากก็ตกอยู่ในสภาวะ “อมหนี้” และขาดสภาพคล่อง เพราะขายบ้านไม่ได้ โครงการที่ทำอยู่ก็ยังไม่เสร็จ

ยกตัวอย่างเช่น China Evergrande ที่เพิ่งขอยื่นล้มละลายในศาลนครนิวยอร์กก็ มีโครงการในพอร์ตประมาณ 706 โครงการ แต่ยังสร้างไม่เสร็จถึง 600 โครงการ

3. การปราบปรามจากภาครัฐ 

เมื่อผู้พัฒนาอสังหาฯ ของจีนเผชิญทั้งการปราบปรามจากภาครัฐทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น และการล็อกดาวน์ที่ยาวนานกว่าประเทศอื่น ก็ทำให้หลายบริษัทขาดแหล่งเงินทุนไปพัฒนาโครงการต่อ รวมทั้งก็ไม่มีรายได้เข้ามาเพราะขายโครงการไม่ได้ ซ้ำร้ายยังมีหนี้จากหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนวนมาก ทั้งหุ้นกู้ในสกุลเงินหยวนและดอลลาร์

แต่ประเด็นอยู่ที่ ถ้าเป็นหนี้ในสกุลเงินหยวนก็อาจจะพอหาทางแก้ไขกันในประเทศได้ ทว่าสำหรับหนี้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ถือเป็นภาระหนักของบริษัทอสังหาฯ เพราะนอกจากจะไม่มีรายได้ ขาดแหล่งเงินทุนจากธนาคารของรัฐแล้ว ยังต้องหาเงินไปซื้อพันธบัตรในสกุลเงินดอลลาร์คืน ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐ ทำให้มูลหนี้ปรับตัวสูงขึ้น ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ การประกาศล้มละลายของ China Evergrande กับศาลนครนิวยอร์ก

ที่สำคัญคือ จากที่กล่าวไว้ว่าธนาคารของรัฐมีมาตรการเข้มงวดในการปล่อยกู้ภาคอสังหาฯ มากขึ้นในช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นเหล่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงไปกู้ยืมเงินกับ “ธนาคารเงา” หรือ Shadow Bank ซึ่งมีแหล่งเงินทุนจากประชาชน คนทั่วไป แล้วนำไปปล่อยกู้ให้ภาคส่วนดังกล่าวด้วยอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ ทว่าปัจจุบัน ธนาคารเงาของจีนก็กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องจนอาจผิดนัดชำระดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุด ต้องตามต่อไปว่าวิกฤติอสังหาฯ ในจีนจะเป็นยังไงต่อไป เพราะล่าสุดหลังจากการล่มสลายของ China Evergrande แล้ว ตอนนี้ทุกสายตาก็จับจ้องไปที่บริษัท Country Garden ที่เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เช่นเดียวกัน 

โดยต้องยอมรับว่า หากท้ายที่สุดเศรษฐกิจจีนซึ่งพึ่งพาภาคอสังหาฯ​ประมาณ ​5-7% ของจีดีพี ได้รับผลกระทบจากภาคส่วนดังกล่าว เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการอสังหาฯ ในไทยที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวจีน อาจได้แรงกดดันจากการที่คนจีนเข้ามาลงทุน-ซื้อสินทรัพย์ในประเทศไทยน้อยลง