เป็น Influencer มีรายได้ อย่าลืมเสียภาษีให้ถูกต้อง

เป็น Influencer มีรายได้ อย่าลืมเสียภาษีให้ถูกต้อง

อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ต้องรู้! เมื่อมีรายได้เข้ามา แต่ไม่ได้นำมายื่นภาษี หรือที่ยื่นภาษีแต่ยื่นไม่ถูกต้อง เมื่อสรรพากรทราบอาจให้ถูกตรวจสอบย้อนหลัง และหากพบว่ามีความผิดจริง ก็ไม่พ้นต้องถูกเรีบกเก็บภาษีย้อนหลัง พร้อมเบี้ยปรับอีกมาก

จากข่าวที่เห็นกันบ่อยในปัจจุบัน ว่าด้วยเรื่องของอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) รีวิวสินค้า โชว์ตัว และมีรายได้เข้ามาแต่ไม่ได้นำมายื่นภาษี หรือที่ยื่นภาษีแต่ยื่นไม่ถูกต้อง เพราะไม่เข้าใจเรื่องภาษีจากรายได้ในส่วนนี้มากเพียงพอ และเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น เมื่อสรรพากรทราบอาจให้ถูกตรวจสอบย้อนหลัง และหากตรวจสอบพบว่ามีความผิดจริง ก็ไม่พ้นต้องถูกเรีบกเก็บภาษีย้อนหลัง พร้อมเบี้ยปรับอีกมากโขด้วยเช่นกัน

และล่าสุดทางกรมสรรพากรได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกลุ่มอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีรายได้จากค่าตอบแทนในการทำคอนเทนต์ลงเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ จะต้องนำรายได้ที่ได้รับในปีภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - วันที่ 31 ธันวาคม มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แยกตามประเภทรายได้ที่ได้รับ

ดังนั้น ใครที่กำลังก้าวเข้าสู้การเป็นนักรีวิวสินค้า หรือ Influencer ซึ่งมีรายได้เข้ามาจากหลายช่องทางที่ต้องทำความเข้าใจว่า รายได้จากช่องทางเหล่านี้จะเข้าสู่การเสียภาษีรูปแบบไหนบ้าง โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  • รายได้อะไรบ้าง อินฟลูเอนเซอร์ต้องนำมาเสียภาษี

​เนื่องจากรายได้ของผู้ที่ทำอาชีพเป็นอินฟลูเอนเซอร์ มีหลายช่องทาง เช่น จากการรีวิวสินค้า ค่าตัวเมื่อไปโชว์ตัว ส่วนแบ่งค่าโฆษณา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายที่ต้องนำเข้ามาประเมินร่วมในการเสียภาษีของอินฟลูเอนเซอร์ว่าต้องยื่นภาษีมาตราไหน ตามมาตรา 40(1) – 40(8) ซึ่งสามารถแบ่งเป็นรายได้และรายจ่ายที่ต้องนำมาประเมินได้ดังนี้

  • กรณีที่อินฟลูเอนเซอร์ทำเพียงคนเดียว ไม่มีสำนักงาน และไม่มีลูกจ้างหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) ซึ่งเข้าลักษณะเป็นเงินที่ได้รับทำงานให้ทั้งแบบประจำหรือแบบชั่วคราว โดยเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 หรือมาตรา 40(2) สามารถยื่นแบบฯ ภาษี โดยคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
  • กรณีอินฟลูเอนเซอร์มีรายได้ โดยมีรายจ่ายเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นรายจ่าจากการจ้างช่างภาพ Costume Designer ช่างแต่งหน้าทำผม ช่างไฟ รวมถึงค่าสถานที่ หากต้องเช่าพื้นที่ในการรีวิสินค้า ลักษณะนี้จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) สามารถยื่นแบบเพื่อคำนวณภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จ่ายจริง ซึ่งต้องมีหลักฐานรายจ่ายเก็บไว้เพื่อแสดงตอนยื่นภาษีให้ครบด้วย
  • วิธีคำนวณภาษีรายได้จากหลายช่องทางของอินฟลูเอนเซอร์

และอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า อินฟลูเอนเซอร์มีรายได้จากหลายช่องทาง ดังนั้น หลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของอินฟลูเอนเซอร์จึงค่อนข้างซับซ้อน ดังตัวอย่างการคำนวณตามตางรางดังนี้ ​

เป็น Influencer มีรายได้ อย่าลืมเสียภาษีให้ถูกต้อง

ตัวอย่างตารางการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ Influencer จากแหล่งรายได้หลายช่องทาง

จากนั้นให้เปรียบเทียบจำนวนภาษีตามวิธี ข้อ 1 และ ข้อ 2 แล้วเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า

หมายเหตุ : 

*เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และ 2 หักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาได้ 50% แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท 
**ถ้าเป็นการโชว์ตัวที่เป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ต้องเข้าลักษณะที่เป็น “การแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ” จึงจะหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาได้ ดังนี้ 
(ก) เงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท 60% 
(ข) เงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท 40% 
โดยการหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท

สรุป

จริงๆ แล้วภาษีที่อินฟลูเอนเซอร์ต้องเสีย หากเป็นคนโสดที่มีรายได้ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน เมื่อมีรายได้เกิน 60,000 บาท หรือกรณีมีคู่สมรสมีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี จะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบฯ ภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี

อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณภาษีตามโครงสร้างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ รายได้ หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน หักเงินบริจาค คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิ คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้ ซึ่งอัตราภาษีจะคำนวณแบบขั้นบันไดในอัตรา 5-35% และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สุทธิ จำนวน 150,000 บาทแรก

โดยผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ เมื่อมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ภาษีแสดงรายการแล้ว กำหนดให้รายได้พึงประเมินประเภทที่ 1-4 ต้องยื่นในช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม ในปีถัดไป และรายได้พึงประเมินประเภท 5-8 ยื่นภาษีกลางปีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน

ทั้งนี้ หากอินฟลูเอนเซอร์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในเวลาที่กำหนด จะมีบทลงโทษเป็นการเปรียบเทียบกำหนดค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือกรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน เป็นต้น

ดังนั้น อินฟลูเอนเซอร์จึงจำเป็นต้องแยกประเภทของรายได้ที่ได้รับให้ถูกประเภท เพื่อให้สามารถนำมาคำนวณภาษีเงินได้ได้สะดวก ง่ายขึ้น และถูกต้อง ไม่เกิดความสับสนจนนำมาซึ่งการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั่นเอง

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting