ผ่ามุมมอง Axel Weber ขาใหญ่วงการธนาคารยุโรป | ดอน นาครทรรพ

ผ่ามุมมอง Axel Weber ขาใหญ่วงการธนาคารยุโรป | ดอน นาครทรรพ

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหารกับ Axel Weber อดีตผู้ว่าการ (2547-2554) ของธนาคารกลางเยอรมนี (Deutsche Bundesbank) อดีตประธานบอร์ด (2555-2565) ของธนาคารยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิส UBS ที่เพิ่งซื้อธนาคารคู่แข่ง Credit Suisse ที่ประสบปัญหาเมื่อต้นปี

ผมคิดว่ามุมมองเศรษฐกิจของเขาหลายเรื่องน่าสนใจ จึงขอนำมาแชร์ให้ผู้อ่าน "กรุงเทพธุรกิจ" ทราบด้วยครับ

เรื่องแรก การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด Axel Weber คิดว่าผู้เล่นในตลาดการเงินส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึง UBS (เนื่องจากเขาไม่ใช่ประธานบอร์ดของ UBS แล้ว เขาบอกว่าความเห็นของเขาไม่จำเป็นต้องเหมือนกับ UBS) กำลังมโน (Wishful thinking) ว่า

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยลงปลายปีนี้ ทั้งที่พวกเขาควรเชื่อที่ประธาน Jay Powell ย้ำแล้วย้ำอีกว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐยังไม่นิ่งพอที่จะทำให้เฟดวางใจ

โดย Axel Weber เชื่อว่า เงินเฟ้อในสหรัฐฯรอบนี้จะไม่ลดลงไปสู่เป้าหมายของเฟดที่ร้อยละ 2 ต่อปีง่ายๆ แต่จะเป็นเชื้อชั่วไม่ยอมตาย ค้างอยู่ที่ร้อยละ 3-4 ต่อปี เป็นระยะเวลาหนึ่ง

ซึ่งจะทำให้เฟดต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงไปจนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงเข้าสู่เป้าหมายชัดเจน แม้จะต้องแลกกับการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะต้องเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะนโยบายการเงินที่ตึงตัวของเฟดก็ตาม และเฟดยังเข็ดขยาดกับวิกฤตเงินเฟ้อเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น Axel Weber มองว่า เฟดอาจจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเวลานานกว่าที่เฟดคาดไว้เองด้วยซ้ำ เนื่องจากแบบจำลองเงินเฟ้อของเฟดปักหมุดให้อัตราเงินเฟ้อวิ่งกลับไปที่ร้อยละ 2 ในเวลาค่อนข้างเร็ว

ซึ่งไม่สอดรับกับพลวัตรของเงินเฟ้อของสหรัฐฯในปัจจุบัน ทำให้แบบจำลองของเฟดประเมินความยืดเยื้อของปัญหาเงินเฟ้อต่ำเกินไป หลังจากที่ประเมินการปรับขึ้นของเงินเฟ้อช้าเกินไปในช่วงก่อนหน้า

ผ่ามุมมอง Axel Weber ขาใหญ่วงการธนาคารยุโรป | ดอน นาครทรรพ

เรื่องที่สอง แม้ Axel Weber จะมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อของทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรปจะทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาคเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด แต่เขามองว่าจะไม่เกิดวิกฤตการเงินโลกในรอบนี้

ผู้อ่านที่เคยอ่านบทความของผมอาจจะจำได้ว่า ผมจะกลัววิกฤต “น้ำลดตอผุด” ในระบบการเงินโลกมาก จากการที่สถาบันการเงินไม่สามารถปรับตัวกับภาวะอัตราดอกเบี้ยโลกที่ปรับสูงขึ้นมากจากที่คุ้นชินกับภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานก่อนหน้านี้

Axel Weber บอกว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปในปัจจุบันมีความมั่นคง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีสถานะทางการเงินที่สามารถรองรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

และที่สำคัญ การดำเนินการของภาครัฐในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ SVB และ Credit Suisse ช่วยปิดความเสี่ยงที่จะเห็นธนาคารพาณิชย์ล้มลงเป็นวงกว้าง แม้อาจจะมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งล้มลงได้อีก แต่จะเป็นรายเล็กรายน้อยที่ไม่มีความสำคัญเชิงระบบ

เมื่อผมถามเขาถึงความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร เช่น กองทุนต่างๆ ซึ่งเป็นจุดที่ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) แสดงความเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เขาบอกว่า ถ้าจะมีเหตุการณ์น้ำลดตอผุดเกิดขึ้นมาในระยะข้างหน้า

เขาเองก็คิดว่าจะเป็นสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารเช่นกัน แต่เขามองว่า ถ้าจะเกิดระเบิดขึ้นก็จะไม่รุนแรงถึงขั้นที่จะส่งผลกับระบบการเงินโดยรวม ยกเว้นจะมีระเบิดหลายลูกเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งแน่นอนว่า ผมหวังให้เขาพูดถูก

ผ่ามุมมอง Axel Weber ขาใหญ่วงการธนาคารยุโรป | ดอน นาครทรรพ

เรื่องที่สามและเป็นเรื่องสุดท้าย คือ การเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในวิกฤต Axel Weber เล่าให้ฟังว่า ตอนที่เขายังเป็นประธานบอร์ดของ UBS แต่ละปี เขาและผู้บริหารของ UBS จะซักซ้อมสถานการณ์จำลองในการที่ UBS เข้าซื้อ Credit Suisse โดยบางปีเขาเล่นเป็นฝั่ง UBS บางปีเล่นเป็นฝั่ง Credit Suisse

ซึ่งเขาบอกว่าในสถานการณ์ปรกติ UBS จะไม่มีโอกาสเข้า takeover คู่แข่งเลย สถานการณ์จำลองที่เขาใช้ จึงต้องเป็นสถานการณ์ที่เป็นภาวะวิกฤตเท่านั้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ UBS ต้องแก้ปัญหาของตัวเองไปด้วย

แม้สถานการณ์วิกฤตที่ UBS ใช้จะไม่เกิดขึ้นจริง เพราะอย่างที่เราทราบ คือ รอบนี้ปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะกับ Credit Suisse ทำให้ UBS อยู่ในสถานะตั้งต้นที่ดีกว่าในสถานการณ์จำลองมาก แต่การที่ UBS มีการซักซ้อมมาทุกปี

ทำให้เขาปิดดีลนี้กับผู้กำกับดูแลของสวิสได้เร็วมากอย่างเหลือเชื่อ แค่ช่วงข้ามเสาร์อาทิตย์เท่านั้น ซึ่งถ้าไม่เคยมีการเตรียมการมาก่อนเลย ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้แน่นอน

การเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤต เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจไทย เพราะมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

แม้ Axel Weber จะบอกว่าจะไม่มีวิกฤตการเงินโลกก็ตาม แต่เราก็ไม่ควรประมาท และยิ่งถ้าเชื่อว่าในทุกวิกฤตมีโอกาสแล้ว เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานะตั้งรับเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเตรียมบทบาทเชิงรุกได้ด้วย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด