เงินวอน ดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่ง สวนทางหยวน ท่ามกลางมาตรการกระตุ้น ศก. ของจีน

เงินวอน ดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่ง สวนทางหยวน ท่ามกลางมาตรการกระตุ้น ศก. ของจีน

สกุลเงินวอน - ดอลลาร์ออสเตรเลีย ปรับตัวสดใสมากขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และกระแสปัญญาประดิษฐ์ สวนทางกับสกุลเงินหยวนที่อ่อนแอ

Key Points

  • วอน และดอลลาร์ออสเตรเลียเอาท์เพอร์ฟอร์มสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
  • จีนจ่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
  • หยวนได้รับแรงกดดันจากส่วนต่างของอัตราผลตอบแทน (Yield Differentials) จากนโยบายการเงินสหรัฐ

ถ้อยแถลงของรัฐบาลจีนที่ต้องการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศส่งผลให้เงินหยวนปรับตัวสดใสขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่สกุลเงินตัวแทน (Proxy Currencies) ของจีนปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ในไตรมาสปัจจุบัน เงินวอน ของเกาหลีใต้ และ เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของสกุลเงินเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเป็นคู่ค้าการส่งออกไปประเทศจีนที่แข็งแกร่ง และยาวนาน ดังนั้นเมื่อทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเกาหลีใต้ และออสเตรเลียจึงได้รับอานิสงส์ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า เงินวอนปรับตัวสูงขึ้นอย่างโดดเด่นในไตรมาสเพราะปรับตัวมาจากฐานที่ต่ำช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 

“เราค่อนข้างระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับความเห็นที่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้สกุลเงินออสเตรเลีย”จอห์น บรอมเฮด (John Bromhead) นักกลยุทธ์ด้านการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ ที่ ออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป จำกัด มหาชน (Australia & New Zealand Banking Group Ltd) กล่าว พร้อมเสริมว่า 

“การลงทุน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผสมผสานในปัจจุบันของจีนเน้นไปที่การปลุกความต้องการซื้อภายในประเทศมากกว่าโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นในภาพรวมท่าทีดังกล่าวจึงเป็นผลดีต่อการส่งออกเหล็ก และแร่เหล็กน้อย รวมทั้งดอลลาร์ออสเตรเลียด้วย”

ทั้งนี้ บรอมเฮด ระบุว่า เงินวอน และดอลลาร์ออสเตรเลียได้อานิสงส์จากภาคส่วนอื่นแทนโดยให้เครดิตกับธนาคารกลางออสเตรเลีย ซึ่งปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นโดยประชาชน และนักวิเคราะห์หลายฝ่ายไม่คาดคิด จึงนับเป็นปัจจัยกระตุ้นหลักสำหรับสกุลเงินของออสเตรเลีย “ตลาดปรับความคาดหวังสำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 3.85% เป็น 4.5% ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย”

ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของ Nvidia Corp. ช่วยพยุงเงินวอน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติทุ่มเงินลงในหุ้นเทคโนโลยีในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยกองทุนทั่วโลกซื้อหุ้นเกาหลีใต้สุทธิ 4 พันล้านดอลลาร์ (132 ล้านล้านดอลลาร์) ในไตรมาสนี้ และอาจมีเงินไหลเข้ามากขึ้น เนื่องจากนักวิเคราะห์บางส่วนยังคงมองว่าราคาชิปในเอเชียถูกแม้ว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว 

“การฟื้นตัวของเงินวอนได้รับแรงหนุนแบบเฉียบพลันจากกระแสปัญญาประดิษฐ์” เอ็ดดี้ เชง (Eddie Cheung) นักกลยุทธ์ตลาดเกิดใหม่ที่ เครดิตอกริโคล ซีไอบี สาขาฮ่องกง (Credit Agricole CIB) กล่าว พร้อมเสริมว่า “นอกจากนี้ยังมีรายงานหลายบริษัทในเกาหลีจะจ่ายปันผล ซึ่งเป็นผลดีต่อเงินวอน และยังคาดว่าวอนจะยังคงเอาท์เพอร์ฟอร์มสกุลเงินในภูมิภาคอยู่ในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม หยวนยังคงถูกกดดันจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ภายในประเทศ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ค่าเงินหยวนใกล้เคียงกับระดับ 7.2 ต่อดอลลาร์ เนื่องจากนโยบายการเงินของจีนแตกต่างไปจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อช่วงวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางแบบ 1 ปี ลง 0.1% ในวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา หลังจากการลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืน (Repurchase Rate) ย้อนหลัง 7 วันอย่างมากในวันอังคาร ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้นักลงทุนจะจับตาดูว่า ทางการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบ 1 ปี และ 5 ปี หรือไม่

“สำหรับตอนนี้ ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทน (Yield Differentials) ที่กว้างขึ้น จากมาตรการทางการเงินของสหรัฐส่งผลเชิงลบต่อหยวนระดับหนึ่ง แต่หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนมีแรงฉุดมากขึ้น นั่นอาจช่วยให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพ” คริสโตเฟอร์ หว่อง (Christopher Wong) นักยุทธศาสตร์ด้านการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศจากโอเวอร์ซี ไชนีส แบงกิ้ง (Oversea-Chinese Banking) ในสิงคโปร์ กล่าว 

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์