เพดานหนี้สหรัฐ ใกล้ถึงเส้นตาย จะบรรลุข้อตกลงได้หรือไม่?

เพดานหนี้สหรัฐ ใกล้ถึงเส้นตาย จะบรรลุข้อตกลงได้หรือไม่?

จับตา "เพดานหนี้สหรัฐ" ที่กำลังเป็นประเด็นสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากใกล้วัน X-date หรือเส้นตายเข้ามาทุกที หากผิดชำระหนี้ ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจสหรัฐเท่านั้น แต่ยังสะเทือนระบบการเงินไปทั่วโลก

วิกฤติ "เพดานหนี้สหรัฐ" กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงและเป็นที่จับตามองของทุกคนในแวดวงเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะเข้าใกล้เส้นตายอีกภายในไม่กี่วัน ซึ่งหากไม่สามารถหาทางออกได้ทันเวลา จะกระทบต่อเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของสหรัฐเป็นอย่างมาก ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด แต่ต้องยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้กระจายเป็นวงกว้างเทียบเท่ากับผลกระทบจากกรณีสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ได้เลย

การกำเนิดของเพดานหนี้และบทเรียนในปี 2011

การตั้งเพดานหนี้ เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1917 เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนการเงินต่อการทำสงคราม โดย สภาคองเกรส ไม่จำเป็นต้องลงมติทุกครั้งเมื่อจะออกพันธบัตร แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป การออกพันธบัตรในสหรัฐ นำมาใช้ประโยชน์ในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในยามวิกฤติ ใช้ในโครงการประกันสังคม ประกันสุขภาพ จวบจนในช่วง 2-3 ปีมานี้ สหรัฐได้ใช้กลไกนี้ในการออกมาตรการรับมือผลกระทบจากการระบาดของโควิด 

กว่าร้อยปีที่ผ่านมา สหรัฐมีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ รวมทั้งหมด 78 ครั้ง และในปี 2011 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อ ตลาดหุ้นสหรัฐ มากที่สุด เนื่องจากมีการต่อรองกันยาวนานจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาล่าง และเดโมแครต ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาสูง จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปโดยออกประกาศใช้กฎหมาย The Budget Control Act of 2011 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันสิ้นสุดการใช้มาตรการพิเศษ 

X-date หรือ ทันเส้นตายพอดี (สถานการณ์ที่เงินงบประมาณใช้จ่ายหมดลง ไม่สามารถชำระหนี้ได้เต็มจำนวนและตรงเวลา จำเป็นต้องเลื่อนเวลาการผิดชำระหนี้ออกไป) เป็นผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้งของสหรัฐลงจาก AAA เป็น AA+ ด้วยเหตุผลเรื่องความล้มเหลวของสหรัฐในการสร้างเสถียรภาพการคลังในระยะกลาง และทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี ทยอยลดลงในช่วง 1 เดือนก่อนเพิ่มเพดานหนี้และลดลงอย่างมีนัยหลังเพิ่มเพดานหนี้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ตลาดหุ้น S&P 500 ถูกเทขาย ดัชนีปรับลดลงราว 17% ภายใน 2 สัปดาห์ จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

เพดานหนี้สหรัฐ ใกล้ถึงเส้นตาย จะบรรลุข้อตกลงได้หรือไม่? ภาพแสดงความเคลื่อนไหวของดัชนี S&P 500 ในช่วงวิกฤติเพดานหนี้ ปี 2011

เกิดวิกฤติอีกครั้งในปี 2023

ตั้งแต่ปี 1917 สหรัฐเพิ่มเพดานหนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด มีการออกมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์พร้อมกับฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดหนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมากจนเพดานหนี้ขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าวงเงินนี้จะช่วยต่ออายุให้สหรัฐอยู่ได้ไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2023 แต่กระนั้น สถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ โดยเพดานหนี้สหรัฐชนเพดานก่อนกำหนด ณ วันที่ 19 มกราคม 2023 รวมถึงเงินคงคลัง (Cash Balance) ที่นำมาจ่ายในช่วงนี้ปรับลดลงมาเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากรายได้จากภาษีในเดือนเมษายนต่ำกว่าเป้าหมาย จึงเป็นประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากใกล้วัน X-date เข้ามาทุกที 

โดยล่าสุด เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้ออกมากพูดย้ำเตือนหลายครั้งว่า สหรัฐมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ในต้นเดือนมิถุนายน 2023 นี้ หลังจากนั้นจึงมีการหารือกันอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน และประธานสภาผู้แทนราษฎรฯ แมคคาร์ธี แต่ทว่าการหารือนั้นไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ในทันที ดั่งกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว เนื่องจากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาล่าง และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาสูง เช่นเดียวกับปี 2011 จึงไม่น่าแปลกใจที่การประชุมหาข้อตกลงจะใช้เวลายืดเยื้อ และยังหาข้อสรุปไม่ได้

จากกราฟจะเห็นว่า ผลตอบแทนตั๋วเงินคลังที่ใกล้จะครบกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ปรับตัวขึ้นไปกว่า 6% โดยพุ่งขึ้นไปอย่างมีนัย หลังจากการปรึกษาหารือที่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของตลาดที่มีต่อวิกฤติเพดานหนี้ในครั้งนี้

เพดานหนี้สหรัฐ ใกล้ถึงเส้นตาย จะบรรลุข้อตกลงได้หรือไม่?

ภาพแสดงผลตอบแทนตั๋วเงินคลังที่ใกล้จะครบกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ปรับตัวขึ้นไปกว่า 6%

จะเกิดอะไรขึ้น หากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้?

ปัญหา เพดานหนี้สหรัฐ เป็นหนึ่งใน Black Swan Event คือ เหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย คาดการณ์ได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะมีผลต่อตลาดค่อนข้างรุนแรง ถ้าหากสหรัฐไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้ให้ทัน X-date เป็นเหตุให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา จะส่งผลกระทบ ดังต่อไปนี้

ผลกระทบต่องบประมาณของกระทรวงการคลัง ไม่สามารถชำระหนี้ตามภาระผูกพันต่างๆ ได้ เช่น

  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผลประโยชน์ของสวัสดิการสังคม
  • ค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพ
  • ค่าใช้จ่ายด้านการทหาร

ผลกระทบต่อสหรัฐ

  • พันธบัตรสหรัฐถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเพิ่มขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น
  • สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จากการลดลงของนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองพันธบัตร
  • เงินเข้ามาลงทุนในสหรัฐลดลงจากความไม่แน่นอนของเสถียรภาพการคลังของสหรัฐ
  • เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

การประชุมใน สภาคองเกรส มุ่งเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ทั้งหมดมูลค่า 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างถกเถียงในส่วนเล็กน้อยของงบประมาณรวมของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งไม่รวมงบประมาณสำคัญ เช่น โครงการประกันสุขภาพ ประกันสังคม และการจ่ายดอกเบี้ยในพันธบัตร ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของรายจ่ายรัฐบาล

สหรัฐ ถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีความน่าเชื่อถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ทุกๆ ประเทศต่างนำเงินมาลงทุนกับสหรัฐ โดยการเข้าซื้อ พันธบัตรสหรัฐ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความมั่นคงและได้รับผลตอบแทนที่สูงในช่วงนี้ ฉะนั้นแล้วหากการขยาย เพดานหนี้สหรัฐ มีความยืดเยื้อมากเกินไป ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจสหรัฐเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงเศรษฐกิจและระบบการเงินทุกประเทศทั่วโลกอีกด้วย อย่างไรก็ดี จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สหรัฐยังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลยสักครั้ง และคาดว่าในครั้งนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่าจะได้ข้อสรุปภายในระยะเวลา X-date หรือไม่ และผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใดในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้

ที่มา : JP Morgan, Bloomberg

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds