คนไทยแห่แลกเงินเที่ยวญี่ปุ่น ‘ซุปเปอร์ริสสีส้ม’ ยอดพุ่งวันละ 100 ล้านเยน

คนไทยแห่แลกเงินเที่ยวญี่ปุ่น ‘ซุปเปอร์ริสสีส้ม’ ยอดพุ่งวันละ 100 ล้านเยน

เงินเยนเทียบบาทอ่อนค่าทุบสถิติ “ซุปเปอร์ริสสีส้ม” เผยนักท่องเที่ยวไทยแห่แลก ยอดทะลักต่อวันถึง 100 ล้านเยน ชี้สูงขึ้นกว่าปกติค่อนข้างมาก ด้าน “กสิกรไทย” ระบุความต้องการเงินเยนเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว

นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่มีแผนเดินทางเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เพราะค่าเงินเยนเทียบเงินบาทในช่วงนี้อ่อนค่าทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเมื่อวันที่ 2พ.ค.2566 เงินเยนเทียบเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดที่ระดับ 24.79 บาทต่อ 100 เยน ก่อนที่จะขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาปิดตลาดวานนี้(3พ.ค.) ที่ระดับ 25.08 บาทต่อ 100 เยน 

โดยสาเหตุการอ่อนค่าของเงินเยน เป็นผลจากนักลงทุนผิดหวังกับผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ยังคงจุดยืนการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ 

 

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริษัท และพนักงาน บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) จำกัด หรือ ซุปเปอร์ริส สีส้ม เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ที่เงินเยนอ่อนค่าลงเป็นพิเศษ ทำให้มีประชาชนรายย่อยเข้ามาจองซื้อเงินเยนจำนวนมาก ล่าสุดวานนี้(3พ.ค.) ยอดจองซื้อเงินเยนมีสูงถึง 100 ล้านเยนต่อวัน นับเป็นระดับที่สูงกว่าปกติค่อนข้างมาก

“ช่วงเปิดประเทศปลายปีก่อน มียอดจองซื้อเงินเยนราวๆ 40 ล้านเยนต่อวัน ก่อนจะเบาบางลงจนถึงช่วงวันหยุดยาว วันแรงงาน ที่มีมูลค่าเฉลี่ยวันละ 20-30 ล้านเยน แต่ล่าสุดในช่วงนี้ดีมานด์เงินเยนพุ่งขึ้นมาสูงถึง 100 ล้านเยนต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงไปค่อนข้างมาก”

ทั้งนี้ แรงจองซื้อเงินเยนที่เข้ามารอบนี้ เป็นกลุ่มรายย่อยทั้งหมด สะท้อนว่าความต้องการเงินเยนที่เกิดขึ้น เป็นกลุ่มคนที่แลกไว้ใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นในปีนี้อยู่แล้ว เพราะด้วยระดับเงินเยนที่ประมาณ 24-25 บาทต่อ 100 เยน ถือว่าถูกกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ที่ประมาณ 26 บาทต่อ100 เยน ทำให้มีความต้องการแลกเงินเยนเข้ามามาก

นายปิยะ กล่าวด้วยว่า แม้ดีมานด์การแลกเงินเยนจะมีเข้ามามาก แต่เนื่องจากเราใช้วิธีเปิดให้จองซื้อจึงยังสามารถบริหารจัดการได้ ปัญหาการขาดแคลนธนบัตรเงินเยนในช่วงนี้จึงไม่มี และปัจจุบันคนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะใช้เงินในทาวเวลการ์ด ซึ่งในส่วนของการพัฒนาวอลเลตของเรา ขณะนี้ได้ยื่นให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาอยู่  

ด้าน นักบริหารเงินธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ยอดจองซื้อเงินเยนของกองทุนและนักลงทุนรายใหญ่ วานนี้(3พ.ค.) ยังอยู่ในระดับปกติ เพราะเป็นช่วงหยุดยาวในไทย ทำให้การซื้อขายของกองทุนไม่ได้มีความเคลื่อนไหวหวือหวา 

ประกอบกับนักลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการซื้อขายเก็งกำไรค่าเงินนั้น อาจจะรอความชัดเจนการประชุมเฟด ในวันที่ 2-3 พ.ค. นี้ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามมที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.25% หรือไม่ หากเป็นไปตามที่ตลาดคาด เงินดอลลาร์มีโอกาสปรับตัวลง และเงินเยนมีโอกาสถูกลงไปอีกในจุดที่มีนัยสำคัญเข้าสะสมมากกว่าระดับปัจจุบันหรือไม่ เพราะจะเห็นว่าเมื่อมีแรงซื้อเงินเยนเข้ามากราคาจะกลับขึ้นไปที่ 26 บาทต่อ100เยน

นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการแลกเงินจากนักท่องเที่ยวมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีแผนท่องเที่ยวญี่ปุ่นอยู่แล้ว หรือกำลังวางแผน ไปท่องเที่ยว 

นอกจากนี้พบว่า การแลกเงินเยนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก ต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ที่เป็นปัจจัยหนุนให้นักท่องเที่ยวต้องการแลกเงินเพิ่มขึ้นหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พบว่า ปัจจุบันความต้องการเงินเยน ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง มาใกล้เคียงที่ระดับ 80% หากเทียบกับก่อนโควิด-19 โดยสัดส่วนการแลกเงินเยน มีทั้งผ่านเคาวน์เตอร์ธนาคาร และผ่านช่องทางออนไลน์หรือ YOU Trip โดยเฉพาะระยะหลังๆที่พบนักท่องเที่ยวนิยมแลกเงินผ่าน YOU Trip ของธนาคารเพิ่มขึ้น เพราะคล่องตัวในการซื้อและขายอัตราแลกเปลี่ยน 

อีกทั้งเรทอัตราแลกเปลี่ยนถือว่าดีระดับต้นๆ หากเทียบกับซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสัดส่วนการซื้อผ่านช่องทาง YOU Trip ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 30%และช่องทางปกติที่ 70%

“ตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา เงินเยนมักอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ดังนั้นช่วงแรกๆที่เงินเยนอ่อนค่า ตอนนั้นคนซื้อเก็บไว้ค่อนข้างมาก แต่หลังๆคนเริ่มเคยชินกับการอ่อนค่าของเงินเยนมากขึ้น ทำให้การซื้อเงินเยน แม้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงที่เงินอ่อนค่า แต่หากเทียบกับช่วงเวลาปกติ ก่อนโควิดยังต่ำกว่า และส่วนใหญ่คนที่แลกเงินเยน มักเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ความต้องการเงินเยน มีเพิ่มขึ้น ในช่วงที่เงินเยนอ่อนค่า ซึ่งมาจากสองกลุ่ม กลุ่มแรกนักท่องเที่ยว และอีกกลุ่มที่เห็นการทำธุรกรรมมากขึ้น คือภาคธุรกิจ ที่มีธุรกิจนำเข้าส่งออก ในการใช้จังหวะนี้ในการแลกเงินเยนเพิ่มขึ้น

รวมถึงบริษัท ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับญี่ปุ่น หรือกลุ่มนักลงทุน ที่มีความต้องการแลกเงินเยนมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่ออกไปลงทุนซื้อตราสารหนี้ในญี่ปุ่น ที่มีโอกาสได้ยิลด์สูง หากเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทย อีกทั้งยังมีความได้เปรียบจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ดังนั้นจะเห็นเงินไหลออกไปสู่สินทรัพย์เหล่านี้เพิ่มขึ้น

“เราเห็นพฤติกรรมคนเปลี่ยน ใช้ Travel Card ของกรุงไทยมากขึ้น ในการซื้ออัตราแลกเปลี่ยน ทั้งซื้อเก็บ หรือเพื่อท่องเที่ยว แต่ยังสัดส่วนไม่เท่ากับการแลกผ่านเคาน์เตอร์ แต่สัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันการอ่อนค่าของเงินเยน พบว่า หลักๆมาจาก หลังการประชุม BOJ ที่ ยังไม่เห็นการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ทำให้เป็นแรงกดดัน ทำให้เงินเยนอ่อนค่า อีกทั้งระยะนี้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด”