เลือกนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร ให้เหมาะสมกับการลงทุน

เลือกนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร ให้เหมาะสมกับการลงทุน

ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดจากหลากหลายปัจจัยและเกิดขึ้นในหลายๆ ส่วนของตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มพันธบัตรรัฐบาล ตลาดตราสารทุน รวมถึงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

ซึ่งค่าเงินบาทก็เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ค่อนข้างผันผวน โดยนับจากการเริ่มแพร่ระบาดของ COVID-19 เงินบาทแข็งค่าสุดที่ 29.24 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงต้นปี 2021 และปรับอ่อนค่าสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2022 ที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์. หรือคิดเป็นการอ่อนค่ากว่า 31% ในช่วงเวลาเพียงปีกว่าๆ ไม่นับว่าระหว่างทางยังเคลื่อนไหวผันผวนอย่างมากทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นระดับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก

ไม่เพียงความผันผวนที่เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนก็เพิ่มขึ้นมากจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่กว้างที่สุดในรอบ 20 กว่าปี โดยเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ 5.00-5.25% ต่อปี เทียบกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่เพิ่มขึ้นจากประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อเป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน แต่เพิ่มขึ้นในขนาดที่น้อยกว่า

โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 1.75% ต่อปี คิดเป็นส่วนต่างราวๆ 3.5% ต่อปี กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ และก็เป็นตัวเลขโดยประมาณของต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อปีของนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในสหรัฐฯ ต่อปีด้วยเช่นกัน ต่างจากในช่วงก่อนหน้าที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วง 0.25%-0.50% เท่านั้นในบางช่วง ทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนน้อยน้อยกว่ามาก หรือบางครั้งอาจจะเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่มแม้จะเพียงเล็กน้อยให้กับนักลงทุนไทยเสียด้วยซ้ำ

ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเป็นอย่างแรกที่นักลงทุนต้องคำนึงถึงเมื่อพิจารณาประเด็นด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยหากลงทุนผ่านกองทุนรวมอาจเลือกนโยบายการป้องกันความเสี่ยงของกองทุนให้เหมาะสมกับมุมมองที่มีและต้นทุนที่กล่าวไว้ในข้างต้น

สำหรับกองทุนในประเทศไทย กองทุนจะมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 4 ชนิด ได้แก่ ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Fully Hedged) ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลย (Unhedged) ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน (Partial Hedged) และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน (Dynamic Hedged)

โดยปกติเราต้องมีมุมมองเกี่ยวกับค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าเพื่อประกอบการเลือกกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม เช่น หากมองว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นก็เน้นเลือกกองทุนที่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน เป็นต้น

แต่ปัจจุบันอาจจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นว่าจะคุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายไปหรือไม่ เช่น หากมองว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ไม่เกิน 3.5% ที่เป็นต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงโดยประมาณ อาจจะเลือกกองทุนที่ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลยจะคุ้มกว่า เป็นต้น หรือ หากไม่มีมุมมองและไม่แน่ใจก็อาจเน้นเลือกกองทุนที่เปิดให้เป็นดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนก็ได้ จะเห็นได้ว่าในภาวะที่แนวโน้มการลงทุนดูจะไม่สดใสมากนัก อัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนสามารถเปลี่ยนผลลัพท์ของการลงทุนได้เช่นกัน

อีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือสิ่งที่เราเรียกว่า Natural Hedge คือ ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยน เช่น ความสัมพันธ์โดยเฉลี่ยที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คือ ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างตราสารทุนในต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์  กับไทยบาท เช่น เมื่อนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในนโยบายการเงินของสหรัฐ ก็จะเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง

และหันกลับมาถือครองดอลลาร์ที่มีฐานะเป็น Safe-Haven เนื่องจากความแพร่หลายของการใช้เงินดอลลาร์ ในฐานะตัวกลางสำหรับการแลกเปลี่ยน ทำให้เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเมื่เทียบกับเงินบาท ก็จะทำให้ความผันผวนของการลงทุนในต่างประเทศสำหรับคนที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากหากขาดทุนจากหุ้น

ก็จะได้กำไรชดเชยบางส่วนจากการแข็งค่าของเงิน ดอลลาร์  เมื่อเทียบกับเงินบาท และเมื่อแปลงหุ้นต่างประเทศกลับมาเป็นไทยบาทก็จะลดการขาดทุนลงนั่นเอง ซึ่งในกรณีนี้การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วนอาจจะเหมาะสมที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ซึ่งมีความสัมพันธ์กับค่าเงินบาทในระดับที่แตกต่างกัน และอาจจะไม่คงที่ตลอดเวลานั่นเอง

หากมองไปข้างหน้าสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ความไม่แน่นอนยังคงรอเราอยู่อีกในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโอกาสของเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาภาคธนาคาร ปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินยังน่าจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ในขณะที่นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังน่าจะสูงอยู่ในระยะข้างหน้า ทำให้เราจำเป็นจะต้องเลือกลงทุนและกระจายความเสี่ยงให้ดี รวมถึงเลือกนโยบายการเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมด้วยครับ …

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด