“อาคม” แนะใช้มาตรการภาษีหนุนจ้างงานสูงวัยสร้างเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน

“อาคม” แนะใช้มาตรการภาษีหนุนจ้างงานสูงวัยสร้างเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน

“อาคม” แนะใช้มาตรการทางภาษีหนุนจ้างงานสูงวัย ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน เหตุประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ประเมินจีดีพีประเทศค่อยไต่ระดับการขยายตัวที่ 3-4%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในฐานะวิทยากรพิเศษงาน THE NEXT THAILAND’FUTURE จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ระบุ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องกลับมาพิจารณา เพราะเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของประเทศ ซึ่งการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะกรณีที่ประเทศได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าที่คาด และการไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังเหตุการณ์โควิด ดังนั้น กระทรวงการคลังควรมีนโยบายเรื่องของมาตรการ การลดหย่อนภาษีเพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น

“แม้ว่า ที่ผ่านมาการจ้างงานจะปรับตัวดีขึ้น เพราะเรามีมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน แต่อย่างไรก็ตาม เราคงต้องกลับมาพิจารณา เพราะการขาดแคลนแรงงานในอนาคตจะเพิ่มขึ้น เพราะปัจจัยหลายอย่าง เป็นปัญหาใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะสังคมเราก้าวสู่สังคมสูงอายุรวดเร็วกว่าคาด ฉะนั้น มาตรการของรัฐเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณการทำงานอายุ 60 ปี ถามว่า เขาจะมีรายได้อยู่หรือไม่ คลังจะมีมาตรการต่อในเรื่องมาตรการภาษีอย่างไร”

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของประเทศนั้น ขณะนี้ มีคำถามว่า เศรษฐกิจไทยเราเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียนหรือไม่ ขอเรียนว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจของไทยค่อยๆ ปรับระดับ แสดงให้เห็นว่า เส้นทางการเติบโตจะไปเรื่อยๆ แต่จะสูงสุดเมื่อไหร่ ยังไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม การเติบโตตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ที่ 4-5% แต่เราก็มองว่า จีดีพีของเราในขณะนี้ น่าจะเติบโตได้ 3-4% แต่หากเราสามารถประสิทธิภาพของประชากรได้ ระดับจีดีพีจะเพิ่มขึ้นได้อีก 1% ซึ่งเราต้องเพิ่มทักษะแรงงาน

นอกจากนี้ ในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งในเรื่องของเงินเฟ้อ ทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน โดยในเรื่องของเงินเฟ้อนั้น ขณะนี้ ทยอยปรับลดลง และเรามองว่า จะอยู่ในกรอบ 1-3% ซึ่งรัฐบาลก็ได้ใช้มาตรการทางการเงิน และการคลังเข้าไปช่วยดูแล ส่วนหนี้สาธารณะอยู่ในระดับ 61.26% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินขาดดุลงบประมาณ โดยปีงบประมาณ 2566 ระดับขาดดุลอยู่ที่ 6.59 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบ 2565 เป็นสัญญาณการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลัง ทางด้านทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐก็อยู่ในฐานะการคลังไม่มีปัญหา

“เราพูดเรื่องงบประมาณสมดุล แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ใช้จ่าย ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ธปท.มีไกด์ไลน์ขอความร่วมมือสถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนการพักชำระหนี้ก็มีอยู่บ้าง แต่พักนานจะทำให้เรามีภาระสถาบันการเงิน เราจึงเน้นปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าการพักหนี้ ที่สุดจะเกิดหนี้เสีย”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์