ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ ที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ จากดอลลาร์อ่อนค่า

ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ ที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ จากดอลลาร์อ่อนค่า

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทรับแรงหนุนอ่อนค่าจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ตลาดคลายกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย ตลาดยังผันผวนในระดับสูงรอจับตารายงานดัชนี ISM PMI ของสหรัฐฯ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.85-35.10 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 ก.พ.) ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ34.85-35.10 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะยังคงไม่กลับตัวมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจนเนื่องจาก ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ในระยะสั้นนี้ และจะเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน 

เมื่อตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ทำให้ในช่วงนี้ เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว Sideways UP และมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.20 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ได้ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นต่อได้บ้าง การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงด้วยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนี ISM PMI ของสหรัฐฯ (ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในวันพุธ และ ISM PMI ภาคการบริการในวันศุกร์) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด(ตั้งแต่วันพุธเป็นต้นไป) ทำให้ตลาดค่าเงินยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนต่อได้

 อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

แรงซื้อกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) ได้ช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้น นำโดย Tesla +5.5% (ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตางาน Investor Day ในวันพุธนี้), Nvidia +0.9%, Apple +0.8% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +0.63% ส่วน ดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปิดตลาด +0.31% หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรงในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมาจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.07% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ในจังหวะย่อตัว เช่นเดียวกันกับในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ASML +2.9%, Adyen +1.8%,) นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลอังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU) ได้บรรลุข้อตกลงกฎเกณฑ์ทางการค้าหลัง Brexit สำหรับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศมีความคล่องตัวมากขึ้น

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทว่าการปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.00% ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวในจังหวะปรับฐาน ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัว sideways และย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.92% ซึ่งภาพดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่คงมองว่า จังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้น จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (Buy on Dip)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังรัฐบาลอังกฤษและสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงกฎเกณฑ์ทางการค้าหลัง Brexit สำหรับไอร์แลนด์เหนือ ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงใกล้ระดับ 104.7 จุด ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เงินดอลลาร์จะยังไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน จนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดทำให้เราคงมองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways และอาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับมาสู่ระดับ 1,824 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(Conference Board Consumer Confidence) โดยบรรดานักวิเคราะห์ได้ประเมินว่า ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัวจะยังคงช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นแตะระดับ 108.5 จุด ทั้งนี้ต้องจับตาว่ามุมมองของผู้บริโภคต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตเริ่มปรับตัวแย่ลงหรือไม่

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของทั้ง BOE และ ECB ว่าจะมีโอกาสขึ้นต่อเนื่องได้ถึงระดับใด