ธปท.ถกคลัง ยืดอายุ สินเชื่อฟื้นฟู - พักทรัพย์พักหนี้ ก่อนหมดมาตรการ เม.ย.นี้

ธปท.ถกคลัง ยืดอายุ สินเชื่อฟื้นฟู - พักทรัพย์พักหนี้ ก่อนหมดมาตรการ เม.ย.นี้

“แบงก์ชาติ” เผยอาจไม่ต่ออายุมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่จะหมดสิ้นปีนี้ หวังปรับการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ย้ำแม้ไม่มีมาตรการแต่แบงก์ยังเดินหน้าช่วยลูกหนี้ต่อ ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ - สินเชื่อฟื้นฟู เตรียมถกคลังควรต่ออายุอีก 1 ปีหรือไม่

        ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ถือเป็นหน่วยงานหลัก ในการทำหน้าที่ “แก้หนี้” โดยการออกมาตรการช่วยเหลือ “ลูกหนี้” อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถประคองตัวได้ แม้ปัจจุบันผลกระทบจากโควิด-19 เริ่มลดลง แต่หลายมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ยังคงอยู่ 

       ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ถือเป็นโจทย์สำคัญ ที่ ธปท.ต้องหันกลับมา “ทบทวน” มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่ว่าจะยังคงมาตรการ หรือยกเลิกมาตรการ เพื่อปรับการดำเนินนโยบายการเงิน เข้าสู่ “ภาวะปกติ” ได้ 


       นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนมาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่จะมีถึงสิ้นปีนี้ แนวโน้มคงปรับมาตรการเข้าสู่ภาวะปกติ ตามทิศทางนโยบายการเงิน ที่ทยอยปรับเข้าสู่ Normalization

     อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ต่อให้ไม่มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว สถาบันการเงิน และนอนแบงก์ ก็มีการช่วยลูกหนี้อยู่แล้ว ผ่านการปรับโครงสร้างที่ทำอย่างต่อเนื่อง

จ่อยืดอายุ ‘สินเชื่อฟื้นฟู - พักทรัพย์พักหนี้’

      ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ และสินเชื่อพักทรัพย์พักหนี้ ธปท.และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ และเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอีกครั้ง

      อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการ ทั้งสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้ โครงการถูกออกแบบมาให้ยืดหยุ่น โดยสามารถต่ออายุมาตรการต่อไปอีกได้ ไม่เกิน 1 ปี

      “เวลาแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านการแก้หนี้ระยะยาวแบงก์ไม่ได้ปรับการช่วยเหลือถึงแค่สิ้นปี แต่แบงก์ มีการช่วยลูกหนี้บางรายยาวไปถึง 10-15 ปี สำหรับภาคธุรกิจ เพราะในแง่แบงก์เอง แบงก์ก็ไม่อยากให้เกิดหนี้เสีย เพราะเป็นต้นทุนกับแบงก์ ดังนั้นแบงก์ก็ต้องการช่วยลูกหนี้ ให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ซึ่งการเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ต่างๆ วันนี้แบงก์ทำได้ดี และทำต่อเนื่องมาอยู่แล้วนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา และการช่วยเหลือเพิ่มในช่วงโควิด-19 ดังนั้นเหล่านี้ ธปท.ก็จะมอนิเตอร์ว่า เมื่อหมดมาตรการไปแล้ว ลูกหนี้จะเป็นอย่างไร แต่ ธปท.จะพยายามผลักดันให้แบงก์เข้าไปช่วยแก้หนี้อย่างต่อเนื่อง”

      สำหรับโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ปัจจุบัน มีลูกหนี้ที่เข้ามาสู่มาตรการแล้ว 6.5 หมื่นล้านบาท โดยมากกว่าที่ประเมินไว้เดิมที่คาด 4-5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นถือว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

      อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะหมดอายุในวันที่ 9 เม.ย.นี้ จึงต้องพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลังเพิ่มเติม ว่าจะต่ออายุหรือไม่ เพื่อให้ชัดเจนก่อนมาตรการหมดอายุ

ขยายเกณฑ์คลินิกแก้หนี้อุ้มลูกหนี้เสีย

      สำหรับคลินิกแก้หนี้ ที่ล่าสุด ธปท.มีการปรับเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่มีฐานะเป็นหนี้เสีย ก่อน 1 ก.พ.2566 ให้สามารถเข้าโครงการได้ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะ ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียก่อน 1 ก.ย.2565 เท่านั้น
     โดยการขยายเกณฑ์ของคลินิกแก้หนี้เพิ่มเติมเพื่อรองรับกลุ่มลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยคิดดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี ที่ยังเข้าไม่ถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ในช่วงที่ผ่านมา และช้อนกลุ่มลูกหนี้ ที่เป็นหนี้เสียเพิ่มเติม เข้ามาสู่โครงการได้มากขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ธปท.อยู่ระหว่างการ พิจารณาเพิ่มอินเซนทีฟ หรือแรงจูงใจ เพื่อจูงใจเจ้าหนี้ เข้ามาสู่โครงการคลินิกแก้หนี้เพิ่มเติมด้วย เพื่อให้ช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น จากปัจจุบันที่เข้าโครงการมาแล้ว 36,000 ราย หรือคิดเป็นมาร์เก็ตแชร์เกือบ 80% ของระบบการเงิน

      ทั้งนี้ หากดูตัวเลขนับตั้งแต่เปิดโครงการคลินิกแก้หนี้ จนถึง ม.ค.ปี 2566 มีลูกหนี้เข้าโครงการแล้ว 36,000 ราย คิดเป็นจำนวน 105,000 บัญชี คิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อ 7,140 ล้านบาท

    “เราคาดหวังว่าหลังจากปรับเกณฑ์นี้ จะช้อนลูกหนี้ ให้สามารถเข้าสู่โครงการได้มากขึ้น โดยเกณฑ์นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20ก.พ.นี้”

ลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลดต่อเนื่อง 

     อย่างไรก็ดี สำหรับความคืบหน้า การช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ อยู่ที่ 5.22 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 3.38 ล้านล้านบาท

     ส่วนความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อปรับตัว ปัจจุบันสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแล้วภายใต้สินเชื่อฟื้นฟูอยู่ที่ 212,362 ล้านบาท จำนวน 59,891 ราย เฉลี่ยวงเงิน 3.5 ล้านบาทต่อราย โดยการอนุมัติสินเชื่อมีการกระจายตัวดี ทั้งขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค 

      สำหรับสินเชื่อเดิม ผู้ได้รับอนุมัติ ประกอบด้วย SMEs ได้รับอนุมัติ 87,248 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 41.1% จำนวน 22,428 ราย คิดเป็นสัดส่วน 37.4% รองลงมาเป็นสินเชื่อธุรกิจ ได้รับอนุมัติ 60,625 ล้านบาท สัดส่วน 28.5% จำนวน 3,764 ราย สัดส่วน 6.3% ส่วน Micro ได้รับอนุมัติ 27,845 ล้านบาท สัดส่วน 13.1% จำนวน 22,099 ราย สัดส่วน 36.9% และลูกหนี้ใหม่ได้รับอนุมัติ 36,642 ล้านบาท สัดส่วน 17.3% จำนวน 11,600 ราย สัดส่วน 19.4%

    ทั้งนี้ สินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติส่วนใหญ่พบว่า เป็นการปล่อยให้กับธุรกิจการพาณิชย์จำนวนเงิน 102,628 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48.3% มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติ 31,923 ราย สัดส่วน 53.3% รองลงมาอุตสาหกรรมการผลิต วงเงิน 46,728 ล้านบาท สัดส่วน 22.00% จำนวน 9,252 ราย สัดส่วน 15.1% ภาคก่อสร้าง วงเงิน 20,039 ล้านบาท สัดส่วน 9.4% จำนวน 5,673 ราย สัดส่วน 9.5% ภาคการบริการ ได้รับอนุมัติวงเงิน 24,270 ล้านบาท สัดส่วน 11.4% จำนวน 8,768 ราย สัดส่วน 14.6%

     สำหรับสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ล่าสุดมีธนาคารเข้ามาร่วมทำแคมเปญสินเชื่อแล้ว 16 ธนาคาร และปล่อยสินเชื่อแล้ว 9 ธนาคาร โดยการปล่อยสินเชื่อโดยรวมอยู่ที่หลักพันล้านบาท

หนี้เสียมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อ

     สำหรับภาพรวมหนี้เสีย ดีขึ้นหากเทียบกับช่วงโควิด-19 โดยหลายธุรกิจ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือ โดยเชื่อว่าจากมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่ยังคงมีอยู่ถึงสิ้นปี 2566 น่าจะเพียงพอในการรองรับกลุ่มเปราะบางได้ 

      อย่างไรก็ตาม จากภาระดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้น บวกกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจกระทบกลุ่มเปราะบาง บางส่วน ดังนั้น ธปท.ได้ย้ำกับเจ้าหนี้ ในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ไม่ควรใช้มาตรการลักษณะปูพรม แต่ต้องเน้นการแก้หนี้โดยการดูตามสภาพ และความสามารถลูกหนี้เป็นหลัก

     ดังนั้นคาดว่า หนี้เสียระยะข้างหน้าอาจปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เป็นการทยอยเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หน้าผาเอ็นพีแอล(npl cliff) หรือการปรับขึ้นรวดเร็วของหนี้เสีย