แบงก์ชาติ เตรียมออกหลักเกณฑ์คุมแบงก์ คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกหนี้

แบงก์ชาติ เตรียมออกหลักเกณฑ์คุมแบงก์ คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกหนี้

“ธปท.” ออกแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน หวังกดหนี้ครัวเรือนลงมาสู่ระดับต่ำกว่า 80% ชี้หากไม่ทำอะไรใน 5 ปี หนี้ครัวเรือนยังสูงแตะ 84% ฉุดเศรษฐกิจ เตรียมออกเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อใหม่ ตามระดับความเสี่ยงลูกหนี้ ไตรมาส 2-3 ปีนี้ คาดบังคับใช้สิ้นปี

    แม้ปัจจุบัน “หนี้ครัวเรือนไทย” ปรับลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 86.6% แต่การลดลงของหนี้ดังกล่าว เป็นการลดลงเฉพาะสัดส่วนเท่านั้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ “คุณภาพหนี้”ยังคงเดิม

      นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในหลายประเทศมีการกำหนด ระดับหนี้ครัวเรือนที่ต้องเฝ้าระวัง คือไม่เกิน 80% เพราะหากสูงเกินไปอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินในอนาคตได้

     ทั้งนี้หากมองภาพหนี้ครัวเรือนไทยที่ระดับ 86.6% หรือ 14.9 ล้านล้านบาท พบว่า 2 ใน 3 เป็นที่เกี่ยวกับการบริโภค และ 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็น สวนทางกับต่างประเทศที่ 2 ใน 3 เป็นหนี้บ้าน ทำให้ครัวเรือนมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศไทย

       ดังนั้น ธปท.จึงต้องออกแนวนโยบายการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพราะมองว่า ภายใน 5 ปี หรือปี 2570 หากไม่ทำอะไร หนี้ครัวเรือน จะอยู่ที่ระดับ 84% ซึ่งสูงกว่าระดับการเฝ้าระวัง ที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยได้

      อย่างไรก็ตาม ภายใต้ “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ธปท.แบ่งกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องเร่งแก้ไข 1. หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2. หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และ 3. หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต

      นอกจากนี้ ในส่วนการดูแลการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้มีคุณภาพ ธปท.จะออกเกณฑ์ให้เจ้าหนี้ ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ รวมถึงการกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ

       รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยคาดจะออกหลักเกณฑ์ได้ไตรมาส 2-3 ปีนี้ และคาดบังคับใช้สิ้นปี 2566