‘เงินบาท’ เปิดตลาดอ่อนค่า ที่ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ ดอลลาร์แข็งค่า

‘เงินบาท’ เปิดตลาดอ่อนค่า ที่ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ ดอลลาร์แข็งค่า

“กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นหลังเฟดยังดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หากไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบตลาดการเงิน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนกรอบใหม่ โดยมีแนวต้านสำคัญในโซน 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ 33.35-33.65บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ( 9 ก.พ.) ที่ระดับ  33.52 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.65 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงมีส่วนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่จะเห็นได้ว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเรามองว่า มาจากการที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ผู้ส่งออกได้ทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแรงขายบอนด์ก็เริ่มชะลอลง หลังจากที่ช่วงก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติได้ขายบอนด์ไทยสุทธิเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท (ล่าสุดกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิราว 1.1 พันล้านบาท)

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า หากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาดการเงิน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวsideways ในกรอบใหม่ โดยมีแนวต้านสำคัญในโซน 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ แนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า เงินบาทมีโอกาสที่จะแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับได้ต่อ เพราะผู้เล่นในตลาดเริ่มมีการปรับสถานะมาเป็นฝั่งที่มองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ หรือ เปลี่ยนจากฝั่ง Short USDTHB มาเป็นฝั่ง Long USDTHB มากขึ้น

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังบรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ปรับตัวลงแรง นำโดย Alphabet (Google) ที่ปรับตัวลง -7.7% หลังจากที่ “Bard” ซึ่งเป็น AI Chatbot ตัวล่าสุดของทางบริษัทได้ให้คำตอบที่ผิดพลาดในงานเปิดตัว นอกจากนี้ บรรดาหุ้นเทคฯ ยังถูกกดดันจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด พร้อมกับย้ำจุดยืนว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้นาน เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวกลับสู่เป้าหมายได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน ความกังวลแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่อาจออกมาแย่กว่าคาด (ตลาดประเมินผลกำไรในไตรมาสที่ 4 ของบรรดาบริษัทบน S&P500 อาจลดลงไม่น้อยกว่า -3%y/y ) ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯNasdaq ปรับตัวลง -1.68% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.11%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 สามารถปรับตัวขึ้นต่อราว +0.28% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน อาทิ Neste (โรงกลั่นน้ำมันของฟินแลนด์) +10.6%, Equinor +6.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็ไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจากบรรดาธนาคารกลางหลัก ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จะส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.68% ในช่วงแรก แต่ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะยีลด์ปรับตัวขึ้น (ส่วนหนึ่งอาจมองว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักมากขึ้น) ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.60% สอดคล้องกับมุมมองเดิมของเราที่มองว่า นักลงทุนสามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้นได้ เพื่อเพิ่มสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ในการเตรียมรับมือความผันผวนของตลาดการเงินในปีนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือในช่วงตลาดผันผวน ส่งผลให้ ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.5 จุด ที่น่าสนใจ คือ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวลดลง แต่ทว่า ราคาทองคำยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจไม่มีมากนัก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก และ การว่างงานต่อเนื่อง เพื่อประเมินภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพราะหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ก็อาจทำให้ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงได้ช้ากดดันให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้

นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด หลังตลาดได้รับรู้แนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปแล้วพอสมควร ทำให้ประเด็นผลกำไรบริษัทจดทะเบียนจะมีผลกับตลาดมากขึ้น