‘ประยุทธ์’ เปิดทำเนียบรับ ‘อันวาร์’ เพิ่มการค้า ไทย-มาเลเซีย แตะล้านล้านบาท

‘ประยุทธ์’ เปิดทำเนียบรับ ‘อันวาร์’ เพิ่มการค้า ไทย-มาเลเซีย แตะล้านล้านบาท

“อันวาร์” เยือนไทยอย่างเป็นทางการพรุ่งนี้ พบประยุทธ์ หารือความสัมพันธ์สองประเทศ 6 ด้าน เดินหน้าเชื่อมโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ พัฒนาพื้นที่ชายแดน ความมั่นคง แก้อุปสรรคการค้า  BCG เร่งเพิ่มมูลค่าการค้าสองประเทศแตะล้านล้านบาทภายใน 68 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันที่  9-10 ก.พ.นี้ นายดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบูราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเชีย มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit) โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเชีย มีกำหนดหารือข้อราชการกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียนเนื่องจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเข้ารับตำแหน่งใหม่เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างจะเดินทางเยือนผู้นำประเทศต่างๆในอาเซียน 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การพบกันนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศมีแผนจะหารือความร่วมมือระหว่างสองประเทศในหลายด้าน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ร่างแถลงข่าวร่วมสำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย 

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่าง รอบด้านเพื่อการพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  5 ด้าน ได้แก่  

1.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ  โดยส่งเสริมและเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย โดยเฉพาะ 5 จังหวัดภาคใต้ของไทยกับ 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย ทั้งด้านการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุน ตลอดจนด้านคมนาคมขนส่งรวมทั้งการเร่งรัดการบรรลุ เป้าหมายทางการค้ามูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ภายในปีพ.ศ.2568 โดยอาศัยกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อลดอุปสรรคและการอำนวยความสะดวกด้านการค้า

รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพระหว่างกัน เช่น อุตสาหกรรมยางพารา อาหารฮาลาล พลังงาน ส่งเสริมความร่วมมือในมิติใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีสีเขียว

2.ความเชื่อมโยงในทุกมิติ อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งรวมถึงการผลักดันโครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่ยังคั่งค้างอยู่ให้มีความคืบหน้ามากขึ้น เพื่อให้การเชื่อมโยงทั้งสองประเทศในเรื่องการเดินทางและขนส่งระหว่างสองประเทศ และแก้ไขปัญหาการคมนาคม ขนส่งระหว่างสองประเทศ

3.การพัฒนาพื้นที่ชายแดน โดยให้ความสาคัญกับการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ (จชต.) ของไทยกับรัฐตอนเหนือของมาเลเซีย รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับ ความอยู่ดีกินดีของประชาชนในพื้นที่

4.ความร่วมมือด้านความมั่นคง ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยส่งเสริมความร่วมมือระดับประชาชนในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 

และ 5. ความร่วมมือประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อแสดงเจตนารมณ์จะร่วมมือกันเพื่อรักษาความเป็นแกนกลางของ อาเซียน (ASEAN centrality) และปฏิบัติตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ที่ได้มีการแสดงความร่วมมือกันในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่ประเทศไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของ กฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่มีการลงนามในร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย