คลังชง ครม.ลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร

คลังชง ครม.ลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร

คลังชง ครม.สัปดาห์นี้ อนุมัติขยายระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 2-3 เดือน โดยจะเสนอปรับลดระหว่าง 3-5 บาทต่อลิตร คาดสูญรายได้ราว 2 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 17 ม.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน และภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังมาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงวันที่ 20 ม.ค.นี้ซึ่งถือเป็นการต่ออายุมาตรการเป็นรอบที่ 6 โดยเบื้องต้นคาดว่า จะลดภาษีให้อีกลิตรละ 3-5 บาท เป็นเวลา 2-3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 21 ม.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้คลังสูญเสียรายได้การจัดเก็บงบประมาณอีกราว 2 หมื่นล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การพิจารณาการขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 ม.ค.นี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และยังตอบไม่ได้ว่าจะต่ออายุแค่ไหน หรือลดภาษีลิตรละกี่บาท เพราะต้องดูสถานการณ์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด แม้ภาพรวมราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลง แต่จะต้องมองราคาดีเซลที่อ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์เป็นส่วนประกอบด้วย

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า การขยายเวลาปรับลดภาษีดีเซลครั้งนี้ จะมีปัจจัยต้องพิจารณารายละเอียดว่าจะปรับลดลงเท่าไร โดยจะปรับลดเหมือนกับครั้งแรกคือ ลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือจะลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เนื่องจาก ขณะนี้สถานการณ์ราคาพลังงานได้เริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับ ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีทางเลือกในการบริหารสภาพคล่องได้มากขึ้น หลังกระทรวงการคลังเข้าไปค้ำประกันในการกู้ยืมเงินแก่กองทุนน้ำมันมากถึง 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้กองทุนฯ สามารถกู้เงินกับสถาบันการเงินต่างๆ ให้เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องดูแลประชาชนได้ อีกทั้งปัจจุบันกองทุนฯ ยังสามารถจัดเก็บรายได้ชดเชยเข้ากองทุนฯ ได้บ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่กระทรวงการคลังจะลดภาษีให้ลิตรละ 5 บาท นาน 2 เดือน มีโอกาสมากกว่าเพราะราคาน้ำมันดีเซลที่ไทยใช้ อ้างอิงจากประเทศสิงคโปร์ยังทรงตัวในระดับสูง จึงต้องดูว่ารัฐบาลจะมีการพิจารณาอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุด

ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบให้กรมสรรพสามิต ต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซล จะถือเป็นการต่ออายุ ครั้งที่ 6 และทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ภาษีไปมากกวา 1.1-1.2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ขอกรมสรรพสามิตที่ต้องติดลบไปจำนวนมาก ซึ่งยอดจัดเก็บรายได้เมื่อปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีรวมทั้งปีได้ 5.31 แสนล้านบาท น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 93,535 ล้านบาท หรือ 15%

ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบให้ขยายเวลาลดดีเซลไปแล้ว 5 ครั้ง เป็นเงินกว่า 9.8 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ครั้งแรก วันที่ 18 ก.พ.- 20 พ.ค.65 ลดภาษีลิตร 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 21 พ.ค.- 20 ก.ค. เป็นเวลา 2 เดือน ครั้งนี้ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 21 ก.ค.- 20 ก.ย. เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท ครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 21 ก.ย.- 20 พ.ย. เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท ครั้งที่ 5 ช่วงวันที่ 21 พ.ย.- 20 ม.ค. เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งการลดภาษีดีเซลทุก 1 บาท จะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์