กรมบัญชีกลางเร่งแก้กฎหมายลดคดีอุทธรณ์ลงทุนภาครัฐ

กรมบัญชีกลางเร่งแก้กฎหมายลดคดีอุทธรณ์ลงทุนภาครัฐ

กรมบัญชีกลางเร่งแก้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง หวังลดคดีอุทธรณ์การลงทุนภาครัฐ โดยเสนอเก็บค่าอุทธรณ์ 0.2% ของวงเงินลงทุน หากพบเหตุควรอุทธรณ์จะยึดเงินประกันทันที ขณะที่ เร่งหน่วยงานรัฐเบิกจ่ายงบปี 66 ส่วนผลเบิกจ่ายปี 65 สูงสุดในรอบ 5 ปี

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 66 กรมฯจะเร่งรัดให้ส่วนราชการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในปีงบประมาณดังกล่าวมีเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ 75% ของวงเงินงบลงทุนรวมที่ 6.95 แสนล้านบาท

สำหรับ เป้าหมายในการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมในแต่ละไตรมาส มีดังนี้  ไตรมาสที่หนึ่ง มีเป้าหมายเบิกจ่ายที่ 19% ไตรมาสที่สองเป้าหมายเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ 39% ไตรมาสที่สามเป้าหมายเบิกจ่ายสะสมสามยู่ที่ 57% และไตรมาสสุดท้ายเป้าหมายเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ 75% 

ทั้งนี้ ในช่วงสองเดือนแรกของปีงบประมาณนี้ (ต.ค.- พ.ย.) สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้แล้ว 15 % ส่วนงบรายจ่ายประจำเบิกได้ 24 %

สำหรับสัดส่วนของงบลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ในปีงบประมาณ 66 ยู่ที่ 21.65% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 61 โดยปีงบประมาณ 65 มีสัดส่วนอยู่ที่ 19.74%  ปี 64 มีสัดส่วนอยู่ที่ 19.76% ปี 63 มีสัดส่วนอยู่ที่  20.1% และปี 62 มีสัดส่วนอยู่ที่ 21.6 %

เธอกล่าวด้วยว่า กรมบัญชีกลาง ซึ่งทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงินให้กับคู่สัญญาในโครงการของรัฐ ได้พยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน รวมถึง แก้ไขอุปสรรคที่ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า ล่าสุดกรมบัญชีกลางได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนมีความคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเด็นในการแก้ไขพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง คือ การอุทธรณ์ของผู้เข้าร่วมประมูลแต่แพ้การประมูลงานภาครัฐ ซึ่งเมื่อมีการอุทธรณ์ ก็จะทำให้การประมูลงานนั้น ต้องล่าช้าออกไปอย่างน้อย 3 เดือนกว่าที่จะได้ข้อสรุปว่าใครเป็นผู้ชนะการประมูล ผลก็คือทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการนั้นๆต้องล่าช้าออกไปอีก

“การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเพิ่มเติมในประเด็น กรณีการยื่นอุทธรณ์ของผู้รับเหมางานภาครัฐ จะต้องมีการวางเงินประกันการอุทธรณ์ ในสัดส่วน 0.2 % ของมูลค่าโครงการ แต่สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท และเก็บค่าธรรมเนียมครั้งละ 1 พันบาท หากกรมบัญชีกลาง พิจารณาแล้วว่า การอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น กรมฯจะยึดเงินประกันนั้น แต่หากการอุทธรณ์ฟังขึ้น จะคืนเงินวางประกันจำนวนดังกล่าวให้”

ทั้งนี้ โครงการลงทุนที่มักจะยื่นอุทธรณ์ มักจะเป็นโครงการขนาดเล็กมีมูลค่าเงินลงทุนไม่ถึง 100 ล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า มีกรณีการอุทธรณ์ที่ไม่ควรอุทธรณ์อยู่ถึง 40% ของการอุทธรณ์ทั้งหมด 2 พันรายการ

นับตั้งแต่เริ่มใช้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในปี 61มียอดอุทธรณ์เฉลี่ยประมาณ 1.5 พันรายการต่อปี ปัจจุบันเหลือยอดอุทธรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาประมาณ 200 รายการ จากยอดอุทธรณ์กว่า 9.8 พันรายการ

สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณในปีที่ผ่านมา ที่สิ้นสุดไปเมื่อปลายเดือนก.ย.นี้ สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลได้ 74 % ของงบลงทุนที่ตั้งไว้ที่ 6.95 แสนล้านบาท แม้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 75 %  แต่หากพิจารณาจากสถิติการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้จะเห็นว่า อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุน ไม่เคยถึงระดับ 70% เลย ดังนั้น การเบิกจ่ายในระดับ 74 % ถือว่าสูงที่สุดในช่วง 5ปีที่ผ่านมา