‘5 เรื่องต้องรู้’จากกระแสขายดอลลาร์ฮ่องกงเพื่อทำกำไรระยะสั้น

‘5 เรื่องต้องรู้’จากกระแสขายดอลลาร์ฮ่องกงเพื่อทำกำไรระยะสั้น

ในที่สุด‘บิล แอคแมน’ นักลงทุนมหาเศรษฐีโลกและผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ หรือกองทุนประกันความเสี่ยง ก็เพิ่มรายชื่อตัวเองไว้ในกลุ่มนักเก็งกำไรค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงระยะสั้นอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย

แอคแมน ผู้จักการกองทุน Pershing Square Capital Management คาดการณ์ว่า ฮ่องกงอาจเลิกใช้นโยบายเลิกผูกค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมูลค่าสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

“นโยบายผูกติดค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐจะใช้ไม่ได้ผลกับเงินดอลลาร์ฮ่องกงอีกต่อไป”แอคแมน กล่าว

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชีย นำเสนอ ‘5 เรื่อง’ที่นักลงทุนต้องรู้เกี่ยวกับการผูกติดค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐ และเหตุผลที่นักลงทุนบางคนคาดการณ์ว่าวิธีนี้จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ดังนี้

 1.การผูกติดค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐคืออะไร?

‘การผูกติดค่าเงิน‘ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการว่าเป็น ’ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเชื่อมโยง’ ถูกนำมาใช้ในปี 2526 เพื่อคลายความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่ลดลง ซึ่งในขณะนี้มีการซื้อขายอยู่ในช่วง 7.75-7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หากช่วงราคาซื้อขายเกิดแรงกดดัน ธนาคารกลางฮ่องกง (เอชเคเอ็มเอ) จะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศตรึงอัตราแลกเปลี่ยน แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กลับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางฮ่องกงเข้ามามีบทบาทในตลาดเงินตราต่างประเทศบ่อย ๆ โดยเฉพาะในปีนี้ ด้วยการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อประคองค่าเงินที่กำลังอ่อนค่า เนื่องจากนักลงทุนทิ้งเงินดอลลาร์ฮ่องกงไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐแทน
 

2. ทำไมยังมีคนลงทุนกับระบบนี้ต่อ?

นักลงทุนบางคนเห็นว่า ฮ่องกงอาจหมดอำนาจทางการเงิน เนื่องจากใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์แล้ว ซึ่งถือเป็นเงินทุนสำรองที่มากที่สุดในโลก และการเบิกเงินของเอชเคเอ็มเอตั้งแต่ต้นปีนั้น เป็นปริมาณเงินที่มากกว่าจำนวนทุนสำรองที่ใช้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซึ่งการเบิกเงินช่วงต้นปี ทำให้เงินทุนสำรองฮ่องกงลดลงไป 15% ตั้งแต่เดือน ม.ค. นักลงทุนบางคนจึงคาดการณ์ว่า ดอลลาร์ฮ่องกงจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและจะลดลง หากมีการซื้อขายเงินดอลลาร์และเงินสกุลอื่นอย่างเสรี นักเก็งกำไรระยะสั้นจึงตัดสินใจขายเงินดอลลาร์ฮ่องกงและตั้งตารอรับเงินคืนในอนาคต โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถทำกำไรจากการที่ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงอ่อนค่าลงได้

3. ใครกำลังเก็งกำไรเงินดอลลาร์ฮ่องกงระยะสั้นบ้าง?

การแสดงความเห็นของแอคแมนผ่านโซเชียลมีเดียว่า บริษัทของเขาได้ถือสัญญาขายเงินดอลลาร์ฮ่องกงจำนวนมาก จนได้รับเสียงปรบมือจาก ‘โบอาส ไวน์สไตน์’ ผู้ก่อตั้งกองทุน Saba Capital Management ที่เห็นด้วยกับแอคแมนและทวีตตอบกลับว่า “การซื้อขายของบิล เป็นล็อตเตอรีที่ฉลาดหลักแหลมมาก และผมก็ทำด้วยเหมือนกัน”

ด้าน ‘ไคล์ เบส’ ผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ซึ่งทุ่มทุนให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐมานานกว่า 10 ปี เปิดเผยสัญญาขายดอลลาร์ฮ่องกงเช่นกัน และได้เผยกับสำนักข่าวนิกเคอิเอเชียเมื่อต้นปีนี้ว่า การผูกค่าเงินเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด เป็นอัตราแลกเปลี่ยนปลอมที่ไม่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ

 4.มีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจทำให้มีการเลิกผูกค่าเงิน?

เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงเพิ่มขึ้น และ ‘จอห์น ลี’ ผู้นำฮ่องกง ถูกสหรัฐคว่ำบาตร หลังเข้าปราบปรามขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง จึงเกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาลสหรัฐอาจแช่แข็งทุนสำรองระหว่างประเทศของเงินดอลลาร์ฮ่องกง แม้ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ความผันผวนที่รุนแรงอาจทำให้ฮ่องกงไม่สามารถผูกติดค่าเงินไว้ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจสร้างแรงกดดันให้เอชเคเอ็มเอที่พยายามตรึงอัตราดอกเบี้ย

ด้าน ‘ฟิลิป ไวแอตต์’ นักยุทธศาสตร์มหภาคและประธานสำนักงานด้านการลงทุนจาก UBS Global Wealth Management กล่าวว่า "ผมไม่คิดว่าสิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้เป็นเรื่องที่มีความเฉพาะหรือพิเศษ แต่เป็นช่วงเวลาที่อึดอัดสำหรับเศรษฐกิจฮ่องกง เพราะต้องทำความคุ้นเคยและปรับตัวให้รับมือกับภาวะขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยให้ได้ และต้องสร้างความคุ้นเคยกับเศรษฐกิจจีนที่กำลังถดถอยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่นักเก็งกำไรค่าเงินระยะสั้นควรคำนึงคือ เงินดอลลาร์อาจจะแข็งค่าขึ้น สร้างความกดดันต่อช่วงราคา และเกิดความกังวลว่าจะทำกำไรจากพันธบัตรสหรัฐและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารฮ่องกงได้หรือไม่

ในส่วนนี้ เอชเคเอ็มเอ ยืนยันว่า ธนาคารมีความสามารถและจะแก้ไขปัญหาให้ได้ เพื่อผูกติดค่าเงินไว้ต่อไป แม้สัปดาห์นี้จะประกาศเตือนว่าทุนสำรองระหว่างประเทศอาจลดลงในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง

5.คนที่ไม่มั่นใจเกี่ยวกับนโยบายนี้ มีความคิดเห็นอย่างไร?

      หลายฝ่าย ตั้งข้อสงสัยว่า จะมีปัญหาร้ายแรงรออยู่ข้างหน้าสำหรับการตรึงสกุลเงินที่ฝ่ามรสุมมามากมายตลอดหลายทศวรรษ รวมถึงวิกฤติการเงินในปี 2551 และการโจมตีค่าเงิน ของจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีนักเก็งกำไรค่าเงิน ในช่วงปลายทศวรรษ 90

     "ชิ โล" นักกลยุทธ์ด้านการลงทุนจากบลจ.บีเอ็นพี พารีบาส์ กล่าวว่า "นักเก็งกำไรพ่ายแพ้ในความพยายามครั้งสุดท้ายและผลลัพธ์นั้นจะเป็นเหมือนวิกฤตครั้งนี้ การผูกติดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นการตัดสินใจทางการเมือง และผมรู้สึกว่าการเมืองจะเป็นตัวชี้นำมูลค่าของค่าเงิน ทำให้ค่าเงินไม่ได้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด่

     ส่วน“พอล ชาน”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฮ่องกง ออกมาตำหนิบรรดานักเก็งกำไรค่าเงินอย่างรุนแรงในเดือนนี้ว่า “ถ้าคุณเดิมพันว่าดอลลาร์ฮ่องกงจะเลิกผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ คุณจะต้องเผชิญหน้ากับการขาดทุน คุณสามารถตรวจสอบคำพูดนี้ของผมกับบรรดาผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในสหรัฐ ที่คิดผิดเกี่ยวกับเงินดอลลาร์ฮ่องกงครั้งแล้วครั้งเล่าได้เลย”