ความเสี่ยงของการวางแผนเกษียณ

ความเสี่ยงของการวางแผนเกษียณ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน ในช่วงที่ตลาดผันผวนอย่างในช่วงปีที่ผ่านมา คนที่มีพอร์ตลงทุนหรือฝากชีวิตเกษียณไว้กับพอร์ตที่ลงทุนในตลาดทุนคงรู้สึกกังวลใจกันบ้าง วันนี้เราลองมาดูว่าถ้าเราวางแผนบริหารความมั่งคั่งเพื่อเกษียณ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงและควรระวังมีอะไรบ้าง

เริ่มต้นเรามาดูนิยามของความเสี่ยงกันก่อนนะครับ ซึ่งถ้าเป็นนิยามที่ใช้ในโลกของการลงทุนก็คงหมายถึงโอกาสที่ผลตอบแทนที่ได้ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดการณ์เอาไว้ เช่นถ้าเราคาดการณ์ว่าเราจะได้ผลตอบแทนร้อยละ 10 ต่อปี ดังนั้นถ้าเราลงทุนไป 10 ปี เราก็ควรได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10%

ต่ในการลงทุนจริงๆผลตอบแทนแต่ละปีก็จะเปลี่ยนแปลงไป บางปีก็อาจจะมากกว่า บางปีก็น้อยกว่า ดังนั้นถ้าการลงทุนไหนมีความเสี่ยงน้อยๆผลตอบแทนเฉลี่ยก็ควรออกมาใกล้เคียงกับสิ่งที่คาด ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ 10% โดยอาจจะออกมาเป็น 9% หรือ 11% แต่ถ้าการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากหน่อย ผลต่างก็จะห่างจากตัวเลขคาดการณ์มาก เช่น -10% ไปถึง 30% เป็นต้น

ซึ่งความเสี่ยงนี้มักจะวัดกันด้วยค่าสถิติที่เรียกว่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ standard deviation (sd)  ซึ่งถ้าตัวเลข sd นี้ถ้าน้อยก็จะหมายถึงการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงต่ำ ถ้ามากความเสี่ยงจากการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้น เราลองมาดูค่า sd ของดัชนีสำคัญๆกันเช่น ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1-3 ปี

ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SETTRI) ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก (MSCIW) ดัชนีแนสแดก 100 (NASDAQ100) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นของบริษัทเทคโนโลยี่ขนาดใหญ่ และดัชนีราคาทองคำ (Gold) ในช่วงตั้งแต่ปี 2003 -2021 ซึ่งผมได้รวบรวมมาไว้ในตารางด้านล่าง           

ความเสี่ยงของการวางแผนเกษียณ

 ซึ่งผลที่ได้ก็ออกมาตามที่เราๆคงคาดเอาไว้ การลงทุนในพันธบัตรจะได้ผลตอบแทนที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่น้อยที่สุดเช่นกัน

 ทีนี้บางคนบอกว่าความเสี่ยงที่ว่ามันวัดทั้งตอนที่ผลตอบแทนมากกว่าค่าเฉลี่ยด้วย ซึ่งเราอาจมองว่าได้ผลตอบแทนมากกว่าก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ก็ไม่ควรนับเป็นความเสี่ยง ดังนั้นจึงมีการวัดความเสี่ยงโดยใช้ตัวสถิติตัวใหม่ที่เรียกว่า  semi-standard deviation หรือวัดความเสี่ยงเฉพาะกรณีที่ผลตอบแทนแย่กว่าที่คาด เราลองมาดูกันว่า ถ้าเราวัดความเสี่ยงโดยใช้ตัววัดความเสี่ยงที่ว่านี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งผมได้สรุปมาใส่ไว้ในรูปกราฟด้านล่างแล้วครับ

ความเสี่ยงของการวางแผนเกษียณ

 ซึ่งก็เป็นเป็นตามคาดว่าความเสี่ยงที่วัดด้วยนิยามแบบใหม่นี้ก็จะน้อยกว่าความเสี่ยงที่วัดแบบเดิมอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะดัชนีพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1-3 ปี และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย

นอกจากตัววัดความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว เราอาจสนใจความเสี่ยงจากการที่บางปีตลาดมีความผันผวนมากๆ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่นในปี 2008 ที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ขึ้น หรือในปี 2020 ที่เกิดวิกฤติโควิด19 และล่าสุดในปีปัจจุบันที่เกิดเหตุการณ์ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นต้น ซึ่งความเสี่ยงแบบนี้เราอาจวัดได้จากตัววัดความเสี่ยงที่เรียกว่า value at risk หรือมูลค่าความเสี่ยงก็ได้

กล่าวเรื่องความเสี่ยงมาพอสมควร ขอวกกลับเข้าเรื่องของความเสี่ยงจากการวางแผนเกษียณ ซึ่งเป็นหัวข้อของเราในวันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งสิ้น (ไม่นับการที่เราไม่ได้ลงทุนตามแผนที่วางเอาไว้นะครับ) ซึ่งผลของมันจะทำให้เงินที่เราคาดการณ์ไว้ว่าว่าจะได้อาจไม่เป็นไปตามที่เราวางแผนเอาไว้ก็ได้ ซึ่งถ้าออกมามากกว่าก็ดีไป แต่ถ้าน้อยกว่านั่นแหละจะเป็นปัญหา ยิ่งถ้าน้อยกว่ามากๆอาจทำให้เราไม่สามารถอยู่หลังเกษียณได้ด้วยซ้ำ

 ดังนั้นผมมีคำแนะนำในเบื้องต้นไว้อย่างนี้ครับ ว่า

1. เราไม่ควรใช้ตัวเลขผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงเกินไป

2. ควรวางระดับของเงินเกษียณขั้นต่ำที่ทำให้เราอยู่ได้อย่างพอเพียงเอาไว้ด้วย และเฝ้าระวังไม่ให้ผลที่ได้จากการลงทุนจริงต่ำกว่าค่านี้ และ

3. ควรดูผลลัพธ์ที่ได้จากการลงทุนจริงและนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่คาดเอาไว้ ถ้าเริ่มต่ำกว่าที่ควรเป็นไว้มาก ก็อาจต้องมีการปรับแผนการลงทุน

ครับท้ายสุดนี้ผมก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านโชคดีและประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ