สคบ. เข้าคุมสัญญาเช่าซื้อรถ ใครได้-ใครเสีย?

สคบ. เข้าคุมสัญญาเช่าซื้อรถ ใครได้-ใครเสีย?

สคบ. เข้า"คุมสัญญาเช่าซื้อรถ" ลดเพดานดบ. -ไม่คิดดบ.ผ่อนรถ แบบ “ลดต้นลดดอก” แต่เป็น “เงินต้นคงที่” เหมือนเดิม เอื้อผู้บริโภค ด้านลิสซิ่ง เดินหน้าปรับตัวคุมความเสี่ยง กลุ่มรายได้ไม่แน่นอน เสี่ยงออกรถยาก กำเงินดาวน์สูง 30% จับตาหนี้นอกระบบพุ่ง

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 ที่ผ่านมานี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565”  โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือราววันที่ 10 ม.ค. 2566  มีสาระสำคัญ ดังนี้ 

- ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561

- กำหนดเพดานควบคุมดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่

รถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10% ต่อปี

รถยนต์ใช้แล้วไม่เกิน 15% ต่อปี

รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี

- โดยคำนวณเป็น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่ง Effective Interest Rate (ลดต้นลดดอก) เทียบกับปัจจุบันผู้ประกอบการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คิดอัตราดอกเบี้ยราว 30-35%

สำหรับหลักเกณฑ์กรณีการคืนรถหรือปิดบัญชีก่อนกำหนดเป็นแบบ 3 ขั้นบันได คือ

- กรณีผู้เช่าซื้อชำระค่างวดไม่เกิน 1 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 60% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ

- กรณีผู้เช่าซื้อชำระค่างวดไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ

- กรณีผู้เช่าซื้อชำระค่างวด ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ให้ได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ

โดยทางสคบ.ยืนยันว่า ไม่ได้คิดดอกเบี้ยการผ่อนรถแบบ “ลดต้นลดดอก”

- สคบ.ยืนยัน การคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังคงใช้แบบ “เงินต้นคงที่” (Flat Rate) เหมือนเดิม ตามที่ใช้ในการคำนวณค่าเช่าซื้อในแต่ละงวด

เหตุผลข้อดี : วิธีคิดยังเหมือนเดิม ลูกค้าอ่านง่าย โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า ผู้ประกอบธุรกิจหรือไฟแนนซ์ อธิบายง่ายกว่า ไม่เช่นนั้นหากขายรถโดยที่ลูกค้าไม่เข้าอาจเจอเรื่องมาร์เก็ตคอนดักส์ควบคุมอีกด้วย  

- สคบ.ยืนยันว่า ผู้ประกอบธุรกิจหรือไฟแนนซ์ ต้องทำตารางแสดงภาระหนี้สินตามสัญญาสำหรับผู้เช่าซื้อแต่ละราย โดยให้ระบุอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate)

เหตุผลข้อดี : เพื่อประโยชน์กับผู้บริโภคให้ได้รับทราบภาระดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการหักทอนเงินต้นแบบลดต้นลดดอก

สรุปว่า...เรื่องดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ผู้ประกอบธุรกิจหรือไฟแนนซ์  เป็นเพียงแค่การระบุรายละเอียดวิธีคิดแบบลดต้นลดดอกเบี้ยไว้ในสัญญาเท่านั้น  แต่ไม่ได้คิดดอกเบี้ยการผ่อนรถแบบ “ลดต้นลดดอก”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า  "กฎหมายใหม่ ของ สคบ.เข้าคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์"  ทั้งผู้ประกอบธุรกิจหรือไฟแนนซ์ และผู้บริโภค ต้องปรับตัวรับ และเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ยาก ดังนี้ 

 “ผู้ประกอบธุรกิจหรือไฟแนนซ์” (คิดดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง)

- คุมเข้มประเมินการปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยงมากขึ้น กลุ่มอาชีพอิสระ รายได้ไม่แน่นอน (พ่อค้าแม่ค้า วินมอร์เตอร์ไซด์ ไรเดอร์ ) กลุ่มที่ไม่มีประวัติสินเชื่อ ไม่สามารถพิสูจน์รายได้มาก่อน ( คนจบใหม่) อาจกู้ไม่ผ่าน

- กำหนดวงเงินดาวน์เพิ่มขึ้น กลุ่มเสี่ยงสูง จาก ไม่คิด เป็นคิด 10-20% หรือสูงสุด 30%

- ยอดปฏิเสธสินเชื่อ พุ่งสูงกว่า30%

- กระทบผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ท้องถิ่น

- รอประเมินสถานการณ์จริงปี 66 คาดภาพรวมยอดขายและสินเชื่อเช่าซื้อ รถจักรยานยนต์ หายไปถึง20-30% แต่รถยนต์กระทบไม่มาก

ตลาดรถจักรยานยนต์อ่วม  

- สินเชื่อ หดตัว 20-30% จากปัจจุบัน90,000-100,000 ล้านบาท

- ยอดขายรถ หดตัว 20-30% จากปัจจุบัน 1.6ล้านคัน เป็นแบบซื้อผ่อนชำระ สัดส่วน 80% และซื้อเงินสด สัดส่วน 20%

ผลกระทบ “ผู้บริโภค” กลุ่มเสี่ยงสูง ยากที่จะซื้อรถใหม่ได้                 (ซื้อรถจักรยานยนต์ -ลูกค้ามีรายได้ไม่แน่นอน)

- เสี่ยงหันหา "เงินกู้นอกระบบ” มากขึ้น

- อาจเลื่อนการซื้อรถใหม่ไปก่อน ถ้ายังไม่จำเป็น

-  ถ้าจำเป็นต้องใช้รถใหม่ ควรเก็บออมเงินดาวน์ ก่อนค่อยมาซื้อ

ตัวอย่างซื้อรถใหม่ เช่น รถมอร์เตอร์ไซด์ คันละ 50,000 บาท ต่อจากนี้ต้องกำเงินดาวน์มาก่อน 5,000-10,000 บาท 

ดูเป็นเรื่องที่ยากมากๆ หาก กลุ่มเสี่ยง วินมอร์เตอร์ไซด์ ไรเดอร์ กลุ่มฐานรากในต่างจังหวัดที่ใช้รถทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่สามารถออกรถได้ในยามที่ต้องการ และแน่นอน ต้องจับตาเงินกู้นอกระบบจะกลับมาหรือไม่ ภายใต้เศรษฐกิจปีหน้าที่สาหัส  ขณะที่ผู้ประกอบการเช่าซื้อภูธร อาจจะล้มหาย แบกรับต้นทุนกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้

ใครได้ใครเสียประโยชน์ จากสคบ.เข้าคุมเข้มสัญญาเช่าซื้อรถ เสียงสะท้อนในตลาด ก็ยังตอบไม่ได้แน่ชัดเจนจนกว่าเริ่มใช้ปีหน้าและประเมินผลกันอีกครั้ง ถ้าความหวังดีเป็นประสงค์ร้าย ต้องขยับกันอีกยกให้เข้าที่เข้าทาง แต่หากผู้ประกอบการเช่าซื้อปรับตัว อยู่รอดได้ และผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด ถือว่า ของขวัญปีใหม่ชิ้นโบว์ของ สคบ. ทำให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ได้ซักที