แบงก์ชาติย้ำ ไม่เปลี่ยน ‘ทิศทาง’ นโยบายการเงิน แม้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย

แบงก์ชาติย้ำ ไม่เปลี่ยน ‘ทิศทาง’ นโยบายการเงิน แม้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย

ธปท.ย้ำยังไม่เปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน หลังมุมมองเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อยังคงเดิม แม้มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกถดถอยมากขึ้น ไม่หวั่นวิกฤติในประเทศเกิดใหม่ เชื่อนักลงทุนแยกแยะ ไม่เหมารวม ย้ำเงินบาทไทย ยังเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มภูมิภาค

       ภายใต้โอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เสาหลักอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยยังสามารถเอาตัวรอด และสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้มีการประมาณการเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ปีนี้ที่ 3.3%และปีหน้าที่ 3.8% 
    นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก มีการพูดถึงค่อนข้างมากในเวทีโลก ร่วมถึงเงินเฟ้อที่หนืด และลงช้ากว่าที่คิด ซึ่งภาพของโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก เป็นภาพที่ ธปท.คาดการณ์ไว้อยู่แล้วทำให้ การประเมินภาพเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ธปท.มีการปรับตัวเลขส่งออกลดลง จากปีนี้ที่คาดว่าส่งออกขยายตัวที่ 8% แต่ปีหน้า ธปท.ปรับตัวเลขส่งออกลดลงเหลือ 1% จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ดังนั้นตัวเลขเหล่านี้ได้ถูกรับรู้ผ่านการปรับประมาณการไปแล้ว 

       ส่วนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะทำให้เศรษฐกิจไทย ไม่ฟื้นตัวแบบที่คิดหรือไม่ ขอตอบว่าไม่ ตามการคาดการณ์ของ ธปท.เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัว 3.3% ปีหน้า ขยายตัว 3.8%

     แม้ปีหน้าการเติบโตเศรษฐกิจจะน้อยกว่า 3.8% ก็ได้ แต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะยังมีต่อเนื่อง ไม่ได้เปลี่ยนจากที่คาดการณ์ไว้

       แต่ตัวที่กระทบต่อการคาดการณ์ ธปท. คือ ภาคท่องเที่ยว หากไม่กลับมาเหมือนที่คาด จะทำให้การประเมินเศรษฐกิจของ ธปท.เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการฟื้นตัวของท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ปีหน้านักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 20 ล้านคน 
      “วันนี้ภาพรวมเศรษฐกิจยังเป็นไปตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ แต่เราก็ไม่ได้ชะล่าใจ เรามีการรีเช็ค มีการทบทวน assumption เราตลอดเวลา และตัวที่มองไว้ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เช่น เงินเฟ้อ ก็ยังมั่นใจว่าจะเข้ากรอบ ในปี  2566 และเฮดไลน์ก็จะลดลง และเข้ากรอบได้ปีหน้า ดังนั้นต้องรีเช็ค สมมติฐานตลอดเวลา หากตรงนั้นเปลี่ยนเราก็พร้อมปรับนโยบายการเงิน แต่ตอนนี้ยังดูสอดคล้องกับที่มองไว้”
      อย่างไรก็ตาม การปรับนโยบายการเงิน ธปท.ประเมินสถานการณ์จาก ข้อมูลต่างๆ ที่ออกมา หรือ Data dependent  ซึ่งไม่ใช่ดูเฉพาะวันนี้ แต่มองไปข้างหน้าด้วยว่าเป็นอย่างไร ต่างกับที่ประเมินไว้หรือไม่ เพราะ ธปท.รู้ดีกว่า นโยบายต่างๆ ที่ทำอาจใช้เวลานานกว่าจะมีผล 

    นอกจากนี้ หากดูการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักหลายประเทศ มีการขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงเนื่องจากเงินเฟ้อสูง กลายเป็นว่า overact เร็ว เพื่อให้มีผลทันที ทำให้ดูเหมือนว่า overact เร็วเกินไป เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ 
     แต่เงินเฟ้อของไทย ที่มาจากอุปสงค์ไม่ได้ชัดเจน ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำนโยบายการเงินแบบเร็วและแรงแบบหลายประเทศ 
     อย่างไรก็ตาม พบว่า แม้มีความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยมากขึ้น หรือโอกาสเกิดวิกฤติในประเทศเกิดใหม่ ใน Emerging Market แต่นักลงทุนไม่ได้กังวลมากนัก แต่ครั้งนี้ ให้น้ำหนักไปที่ปัญหา จากประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ ยุโรป มากกว่า 
     อีกทั้งพบว่า นักลงทุนมีการแยกแยะมากขึ้น เมื่อเกิดวิกฤติในประเทศเกิดใหม่ๆ ไม่ได้เหมารวมว่าประเทศใน Emerging Market ทั้งหมดมีปัญหาไปด้วย ต่างกับอดีต เมื่อมีเกิดวิกฤติที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ความกังวลมักลามไปหลายประเทศด้วย 
    ดังนั้นภาพวันนี้ การมองภาพของเศรษฐกิจในประเทศ EM ไม่ได้แย่ หากเทียบกับฝั่งประเทศยุโรป ดังนั้นกรณีที่ เวียดนาม กำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อนค่าแรง และทุนสำรองลดลงมาก ทำให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนั้น เชื่อว่า คงไม่มีผลกระทบต่อไทย แม้จะมีผลบ้างระยะสั้นๆ แต่มองว่าจะไม่ถูกผลกระทบหนัก 
เงินบาทเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มภูมิภาค
     เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาท ยังอินไลน์ หรือยังเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มภูมิภาค โดยยังไม่เห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติจากกลุ่ม ซึ่งค่าเงินบาท ถือว่าอ่อนค่าระดับกลางๆ หากเทียบกับภูมิภาค 
     ส่วนการป้องกันความเสี่ยง หรือการทำเฮดจ์จิ้ง ในปัจจุบัน ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าที่ ธปท.อยากเห็น ส่วนหนึ่งมาจากความคุ้นเคย และเรื่องของต้นทุนที่มีต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.พยายามหาแนวทางส่งเสริมให้เกิดการทำเฮดจ์จิ้งเพิ่มขึ้น
      ดังนั้นมองว่า อินโนเวชัน  จะเข้ามาตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ ดังนั้นต้องทำระบบเอื้อให้โซลูชันต่างๆ เกิดขึ้น 
    “การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีทำเฮดจ์จิ้งมากขึ้น เป็นโจทย์ที่เราอยากเห็น แต่การจะเกิดแบบนั้นได้ต้องทำให้ต้นทุนการทำเฮดจ์จิ้งถูกลง แต่เรามองว่าแบงก์ชาติไม่ควรไปทำประกันให้ทุกคน เพื่อทำให้ค่าเงินไม่เคลื่อนไหวเลย อันนี้เราได้บทเรียนมาแล้ว จากปี 40 ที่พยายามทำแบบนี้ฝืนกลไกตลาดเพราะห่วงผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แต่การทำแบบนี้ แม้จะลดความผันผวน แต่ทำให้ความเปราะบางต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่เราไม่อยากเห็นความผันผวนมาก ทำให้บางจังหวะที่ตึงเป็นพิเศษก็ต้องเข้าไปดูแลความผันผวน แต่ไม่ได้เข้าไปฝืนตลาด”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์