EIC มองขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แบบค่อยเป็นค่อยไป เอื้อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

EIC มองขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แบบค่อยเป็นค่อยไป เอื้อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

EIC มองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เอื้อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้เท่าเทียมขึ้น และทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะ "กลุ่มผู้มีรายได้น้อย" ที่ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรรอบที่ผ่านมา

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า  “เมื่อเศรษฐกิจเจริญขึ้น การแบ่งสรรรายได้ของประเทศจะแตกต่างออกไป บุคคลบางคนอาจร่ำรวยมากขึ้น แต่บุคคลบางคนอาจจนลงก็ได้ ในเรื่องเหล่านี้… ต้องพิจารณา และหาทางแก้ไขอยู่เสมอ …เพื่อให้ความสุขแก่คนโดยทั่วถึง” (หนังสือ เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย เขียนโดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร) 

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือปัญหา ‘ส่วนต่างรายได้’ เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา ประชากรที่มีรายได้สูงสุด 10% ถือครองรายได้ก่อนหักภาษีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 45.7% ของทั้งระบบเศรษฐกิจ โดยปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 33.9%

 

นักเศรษฐศาสตร์ มองว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาระยะยาว บางส่วนมองว่าเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ลดบทบาท และอำนาจต่อรองของแรงงาน บางส่วนมองว่าเกิดจากโครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ไม่เอื้อต่อการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม

ล่าสุด นักเศรษฐศาสตร์พบปัจจัยอีกประการหนึ่งที่อาจมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากกว่าที่เราเคยเข้าใจ ปัจจัยนั้นคือ ‘วัฏจักรเศรษฐกิจ

Bayer, Born and Luetticke (2020) จำลองพลวัตทางเศรษฐกิจการเงินและการกระจายรายได้ โดยใช้ Heterogeneous Agent New Keynesian Model การศึกษาพบว่า ‘วัฏจักรเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสามารถอธิบายการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ภายในเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงปี 1980 - 2015 ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง’

วัฏจักรเศรษฐกิจส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ เพราะการขยายตัว และหดตัวทางเศรษฐกิจมีนัยต่อรายได้ รายจ่าย และฐานะการเงินของครัวเรือนแตกต่างกัน โดยขึ้นกับธรรมชาติของปัจจัยบวก - ลบที่ก่อให้เกิดวัฏจักรเศรษฐกิจ เช่น การระบาดของโควิด ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนรายได้น้อยที่ทำงานในภาคบริการ มากกว่าครัวเรือนรายได้สูงที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลของวัฏจักรเศรษฐกิจต่อความเหลื่อมล้ำยังขึ้นกับโครงสร้าง และสุขภาพของฐานะการเงินของครัวเรือน เช่น ครัวเรือนรายได้น้อยมีเงินออมน้อยกว่าครัวเรือนรายได้สูง การหดตัวทางเศรษฐกิจจึงส่งผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือนรายได้น้อยมากกว่า

ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินปรับตัวขึ้นได้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้นครัวเรือนรายได้สูงที่มีสินทรัพย์ทางการเงินหลากหลายกว่าจึงได้รับผลตอบแทนสูงกว่าครัวเรือนรายได้น้อยที่มีแต่เงินฝากธนาคาร

Bayer, Born and Luetticke ยังแสดงผลการศึกษาที่น่าสนใจอีก 3 ประการ

1. วัฏจักรเศรษฐกิจอาจทิ้ง ‘แผลเป็น’ ไว้กับการกระจายความมั่งคั่ง

เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีการผลิตสามารถส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นและค้างอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานกว่า 5 ปี
 
2. หนึ่งในปัจจัยเชิงวัฏจักรที่มีผลต่อพลวัตความเหลื่อมล้ำอย่างมากคือ ‘สมดุลอำนาจตลาด’ ระหว่างผู้ผลิตและแรงงานในระบบเศรษฐกิจ

โดยตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ผู้ผลิตในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้ามากขึ้น ขณะที่แรงงานมีอำนาจในการต่อรองอัตราค่าจ้างน้อยลง การศึกษาพบว่าสมดุลอำนาจตลาดสามารถอธิบายความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง

3. คณะผู้วิจัยเปรียบเทียบการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพราคา (Hawkish) กับแบบผ่อนปรน เพื่อให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Dovish)

โดยพบว่า ‘การดำเนินนโยบายการเงินแบบ Hawkish จะส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้อย่างมากในภาวะที่อำนาจตลาดเสียสมดุล’ โดยแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจจะได้รับผลข้างเคียงเชิงลบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า ในภาวะที่แรงงานไม่มีอำนาจต่อรองอัตราค่าจ้างหรือราคาสินค้า
 
ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์มองว่าวัฏจักรทางเศรษฐกิจไม่ได้เกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจึงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลของการดำเนินนโยบายต่อการกระจายรายได้มากเท่าปัจจัยอื่น

อย่างไรก็ดี Bayer, Born and Luetticke ชี้ให้เห็นว่าวัฏจักรทางเศรษฐกิจมีผลต่อการกระจายรายได้อย่างมาก มีนัยว่าการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอาจต้องคำนึงถึงผลกระทบของวัฏจักรเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายต่อการกระจายรายได้มากขึ้น

ข้อมูลชี้ว่าวัฏจักรเศรษฐกิจน่าจะมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยเช่นกัน

ผลการศึกษาของ Bayer, Born and Luetticke ชวนให้ตั้งคำถามว่าวัฏจักรเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ของไทยมีความสัมพันธ์กันหรือไม่

บทความฉบับนี้ติดตามพลวัตของการกระจายรายได้ในวัฏจักรทางเศรษฐกิจรอบล่าสุด นั่นคือในช่วงปี 2015-2021 โดยเศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นในช่วงปี 2015 - 2018 โดยขยายตัวเร่งขึ้นจาก 3.1% ในปี 2015 ขึ้นมาอยู่ที่ 4.0% ในปี 2017 และ 4.1% ในปี 2018 ต่อมาในปี 2019 การค้าระหว่างประเทศที่ลดลงจากความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3% ก่อนที่การระบาดของโควิดจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรขาลงอย่างเต็มตัว โดยเศรษฐกิจไทยหดตัว - 6.2% ในปี 2020 ก่อนที่จะทยอยฟื้นตัวขึ้นในปัจจุบัน

เราใช้ข้อมูลรายได้จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) โดยเลือกเฉพาะรายได้จากการทำงานและการลงทุนของครัวเรือน เพื่อควบคุมผลของนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐและการแชร์ความเสี่ยงระหว่างครัวเรือน เราจัดกลุ่มครัวเรือนตามระดับรายได้ในปี 2021 และติดตามกลุ่มครัวเรือนเดิมตลอดช่วงปี 2015 - 2021 ผลการสรุปข้อมูลแสดงในรูปที่ 1

EIC มองขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แบบค่อยเป็นค่อยไป เอื้อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

ข้อมูลชี้ประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ในปี 2017 ซึ่งเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้น รายได้ของครัวเรือนรายได้สูงเพิ่มขึ้นตามวัฏจักร แต่รายได้ของครัวเรือนรายได้น้อยกลับลดลง รายได้ของครัวเรือนรายได้น้อยปรับเพิ่มขึ้นบ้างในปี 2019 แต่ยังไม่กลับไปสูงเท่ากับระดับรายได้ในปี 2015 ข้อมูลสะท้อนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้มีอานิสงส์ต่อคนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

ข้อมูลสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2017 ที่เติบโตจากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นหลัก ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศเติบโตได้ช้ากว่า และมีปัจจัยลบแวดล้อม ทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี การจ้างงานที่ลดลงจากการใช้เครื่องจักรทดแทน และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในภาพรวมการส่งออกสินค้าและบริการไม่ได้อาจมีอานิสงส์ต่อมายังเศรษฐกิจในประเทศมากเท่าที่ควร

ประเด็นที่ 2 ในปี 2021 ซึ่งเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลง รายได้ของครัวเรือนรายได้น้อยยังปรับลดลงต่อ แต่รายได้ของครัวเรือนรายได้สูงกลับเพิ่มขึ้น ข้อมูลสอดคล้องกับบทความ ‘เศรษฐกิจไทย พร้อมหรือไม่ หากใช้ยาแรงแก้ปัญหาเงินเฟ้อ?’ ที่เคยพูดคุยกันว่ามีครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายมากถึง 7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 31.8% ของครัวเรือนไทย เราพบว่าครัวเรือนกลุ่มนี้มีรายได้น้อย แต่มีรายจ่ายจำเป็น และภาระการจ่ายหนี้ในสัดส่วนที่สูง

โดยสรุปในรอบวัฏจักรที่ผ่านมา แนวโน้มรายได้ของครัวเรือนรายได้น้อยกับครัวเรือนรายได้สูงแยกจากกันเป็นรูปตัวอักษร K สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้นตลอดวัฏจักร

วัฏจักรทางเศรษฐกิจมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำต่อเนื่องมาจนถึง ‘ระยะฟื้นตัว’ การสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค (EIC Consumer Survey) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 พบว่ารายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ‘ฟื้นตัวช้ากว่า’ กลุ่มผู้มีรายได้สูง โดยสัดส่วนของผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ณ ระดับก่อนการระบาดของโควิด มีค่าสูงถึง 85% ในขณะที่สัดส่วนของผู้มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน มีค่าเพียง 47% นอกจากรายได้จะฟื้นตัวช้ากว่าแล้ว ผู้มีรายได้น้อยยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า โดยสัดส่วนของผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ที่ได้รับผลกระทบมากหรือค่อนข้างมาก มีค่าสูงถึง 65% ในขณะที่สัดส่วนของผู้มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน มีค่าเพียง 25%

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมาะกับเศรษฐกิจไทยที่เผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เวลานี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด ขณะที่ผู้ดำเนินนโยบายการเงินกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ในบริบทที่เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ขณะที่วัฏจักรเศรษฐกิจรอบที่ผ่านมา ถ่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปน่าจะช่วยให้รักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยลดผลข้างเคียงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรรอบที่ผ่านมา จึงน่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างทั่วถึงมากขึ้น

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Bayer, Born and Luetticke เกี่ยวกับสมดุลอำนาจตลาด และนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ยังชวนให้คิดถึงบริบทของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะมีปัญหาเรื่องสมดุลอำนาจตลาดเหมือนกัน โดยล่าสุด World Economic Forum จัดไทยอยู่อันดับที่ 104 จาก 138 ประเทศ ในด้านการกระจายอำนาจในตลาดสินค้าและบริการ (Extent of Market Dominance) และอยู่อันดับที่ 62 ในด้านประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Effectiveness of Anti-Monopoly Policy)

ในภาวะที่อำนาจตลาดขาดสมดุลเช่นนี้ การดำเนินนโยบายการเงินแบบ Hawkish มากเกินไปอาจส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้มากกว่าผลบวก ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปน่าจะสอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจไทย และเอื้อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้เท่าเทียมขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเติบโตที่มีเสถียรภาพ และทั่วถึงในรอบวัฏจักรต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์