วิพากษ์ Bitcoin Standard กับทฤษฎีสมคบคิด

วิพากษ์ Bitcoin Standard กับทฤษฎีสมคบคิด

บางคนอาจบอกว่า “‘The Bitcoin Standard’ รุ่งอรุณของเสรีภาพทางการเงิน การปลดแอกของผู้คนจากรัฐทรราช” ไม่แน่ “ซาโตชิ นากาโมโตะ” อาจกลายเป็นทรราชตัวจริง และบรรดา “พ่อรวย ลูกรวย” “‘บ้านเป็นหนี้สิน’ ดังนั้นอย่าซื้อ เอาไปซื้อบิตคอยน์ดีกว่า” ก็เป็นเหล่าผู้สมคบคิดกันก็ได้

คัมภีร์ของพวกนิยมบิตคอยน์ คือ Bitcoin Standard ซึ่งผมขอวิพากษ์ให้เห็นถึงแนวคิดสุดอันตรายนี้

1.พวกนี้มองว่าการมีรัฐควบคุมเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่รัฐบาลคือตัวแทนของประชาชน คงมีเพียงครั้งคราวที่เกิดรัฐบาลเผด็จการทรราช ยิ่งรัฐบาลท้องถิ่นก็ยิ่งจำเป็น เราพึงมองรัฐบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่เราเลือกมา

2.อย่างกรณีโฉนดที่ดิน ไทยเราใช้ระบบทอร์เรนส์ (Torrens) เช่นหลายประเทศ คือ ระบบการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับที่ดินต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ โฉนดจะมีคู่ฉบับ (Land Title Deed/Certificate) เก็บไว้ที่สำนักงานที่ดินชุดหนึ่งและที่ตัวเจ้าของอีกชุดหนึ่ง การจดทะเบียนก็ต้องนำคู่ฉบับมาเทียบกัน แม้ขณะนี้ได้ Digitize โฉนดแทบหมดแล้ว แต่ระบบนี้ทำให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่ารัฐได้เป็นพยาน

 

3.พวกนี้อ้างว่าเงินตราเฟ้อ ด้อยค่าลง โดยยกตัวอย่างบางประเทศที่ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ แต่นั่นเป็นสิ่งชั่วคราวซึ่งก็คลี่คลายในเวลาต่อมา

ในกรณีสหรัฐที่พวกนิยมบิตคอยน์มองว่ารัฐบาลควบคุมประชาชนมาก ทั้งที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง สหรัฐมีอัตราเงินเฟ้อต่ำมากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ยกเว้นช่วงท้ายโควิด-19 แต่ปัจจุบันก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกับไทยและประเทศส่วนใหญ่ที่เงินเฟ้อต่ำ เงินจึงไม่ได้เฟ้อมากมายดังที่ Bitcoin Standard กล่าวอ้าง

4.ในอดีตสมัยพระเพทราชาปี 2239 ก็มีบันทึกถึงช่วง “ข้าวยากหมากแพง” ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายครั้งตั้งแต่สมัยอยุธยา Bitcoin Standard จะไปอ้างว่าเพราะ “รัฐทรราช” หรือระบบการเงินบกพร่องไม่ได้

5.เราอาจจะเห็นภาวะเงินเฟ้อต่างๆ เช่น ราคาก๋วยเตี๋ยวเมื่อ 65 ปีก่อนราคา 0.5 บาท แต่ขณะนี้ราคา 50 บาท หรือราคาทองคำขึ้นจาก 400 บาทเป็นราว 40,000 บาท (เพิ่ม 100 เท่าในรอบ 65 ปี) หรือเฉลี่ยเพิ่มปีละ 7% อย่างไรก็ตามราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ไม่ได้ขึ้นมากจึงทำให้เงินเฟ้อแทบไม่เคยถึง 7% ถ้าเงินไม่เฟ้อเลยก็คงเหมือนกับเอาเงินฝังตุ่มในสมัยโบราณ

แต่ปัจจุบันมีโอกาสลงทุนให้เงินทำงานแทนเรา เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้น หุ้นกู้ ฯลฯ (ไม่ใช่ฝากธนาคารเพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยบิดเบือนมาก-รัฐบาลควรเพิ่มจำนวนธนาคาร)

6.ถึงแม้จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สะท้อนผ่านผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจหรือช่วงที่เกิดโควิด-19 เป็นต้น GDP ได้หักเงินเฟ้อไปแล้ว

ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินต่างๆ จึงสะสมความมั่งคั่งให้กับเราด้วย ถ้าเราไม่ซื้อบ้านหรือไม่ลงทุนอะไรเลยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ก็เท่ากับเรายากจนลงนั่นเอง

7.สำหรับอัตราผลตอบแทนในการลงทุน (Capitalization Rate) ทางหนึ่งก็คือการนำอัตราผลตอบแทนปกติ เช่น ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล (3% ต่อปี) บวกด้วยเงินเฟ้อ บวกความเสี่ยงทางธุรกิจ และลบด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้สุทธิ ดังนั้น ผลตอบแทนจึงมักอยู่ที่ 7-9% แล้วแต่ประเภทธุรกิจหรือประเภททรัพย์สิน ราคาของทรัพย์สินจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น

8.บิตคอยน์มีราคาผันผวนมาก ราคา ณ 5 เม.ย.2567 2,457,699.89 บาท ในขณะที่ราคาต่ำสุดในรอบล่าสุดอยู่ที่ 571,582.82 บาท แสดงว่าในรอบ 461 วัน ราคาขึ้น 430% โดยนัยนี้ใน 1 ปี ราคาเพิ่มเป็น 317.3% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 217.3% หรือเกือบพอๆ กับดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ

วิพากษ์ Bitcoin Standard กับทฤษฎีสมคบคิด

บิตคอยน์จึงมีเฟ้อสูงมาก และผู้คนก็นิยมเล่นเพื่อเก็งกำไร ที่หวังเก็บระยะยาวคงน้อยมาก จึงทำให้เกิดภาวะ “แมงเม่าบินเข้ากองไฟ”

9.ความมั่งคั่งในโลกนี้มีมูลค่าถึง 454.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่คนรวยที่สุดในโลก 2,640 คน มีความมั่งคั่งอยู่ที่ 12.2 ล้านล้านบาท แสดงว่าคนเหล่านี้มีความมั่งคั่งที่ 2.68% ของคนทั้งโลก อย่างไรก็ตาม บุคคลที่รวยที่สุดในโลกมีมูลค่าทรัพย์สิน 211 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 1.73% ของความรวยของคนที่รวยที่สุดในโลก 2,640 คน

แม้มีคนรวยแต่ค่าสัมประสิทธิ์จีนีที่ใช้วัดความไม่เท่าเทียม โดยคำนวณหาการกระจายของความมั่งคั่งของคนภายในประเทศ ก็พบว่าไทยได้ค่าที่ 35.9 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 37.4 เล็กน้อย สถานการณ์ในไทยจึงไม่เลว

10.หากประมาณการว่าราคาบิตคอยน์ขึ้นไปสูงที่ 72,000 ดอลลาร์ต่อ 1 บิตคอยน์ และนายซาโตชิ นากาโมโตะ ยังเก็บบิตคอยน์ไว้ 1 ล้านดอลลาร์ ก็เท่ากับมีความมั่งคั่งที่ 72,000 ล้านดอลลาร์หรือเท่ากับเศรษฐีอันดับที่ 15 ของโลก นี่เป็นความสุดยอดที่เขาสร้างฐานะจากการสร้างบิตคอยน์ขึ้นมา

11.ถ้าในอนาคตโลกนี้ใช้แต่บิตคอยน์เป็นหลัก นายซาโตชิก็คงเป็นอภิมหาเศรษฐี และอาจกลายเป็นผู้ครองโลกโดยไม่ต้องรบ เพราะเขาครองทรัพย์สินถึง 4.76% ของคนทั้งโลก (มากกว่าเศรษฐีระดับโลก 2,640 รวมกัน) มีเงินก็คงมีอำนาจทางการเมืองสูง อาจจะยิ่งใหญ่กว่าเจงกิสข่าน จูเลียส ซีซาร์ อเล็กซานเดอร์มหาราช

12.แม้พฤติกรรมจริงของผู้ซื้อบิตคอยน์จะซื้อเพื่อการเก็งกำไรระยะสั้น แต่บิตคอยน์เองกลับพยายามส่งเสริมให้คนออม เก็บบิตคอยน์ไว้ ถ้าเขาทำได้สำเร็จก็จะมีคนซื้อบิตคอยน์กันใหญ่ “เข้าทาง” ของเจ้าของบิตคอยน์ที่จะได้ทยอยขายบิตคอยน์ออกมาเรื่อยๆ

13.บิตคอยน์อ้างมาโดยตลอดว่าเครือข่าย Peer-to-Peer ทำให้สามารถตรวจสอบได้ แต่ในการซื้อขายจริง ไม่มีใครรู้ชื่อจริงของใคร อาชญากรจึงชอบบิตคอยน์เพราะตรวจสอบไม่ได้ว่าคนซื้อ คนขายเป็นใคร ประธาน ก.ล.ต.สหรัฐก็ “ยืนยันว่า แม้จะอนุมัติ BTC ETF แต่ Bitcoin ยังคงถูกใช้เพื่อทำธุรกรรมในกิจกรรมที่ชั่วร้ายและผิดกฎหมาย”

วิพากษ์ Bitcoin Standard กับทฤษฎีสมคบคิด

14.สิ่งที่ถูกปกปิดก็คือกระบวนการขุดบิตคอยน์มีต้นทุนสูงมาก จากการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ เรื่อง The Hidden Environmental Cost of Cryptocurrency : How Bitcoin Mining Impacts Climate, Water and Land แสดงถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมโหฬารในการขุดบิตคอยน์

15.ขณะที่เครือข่ายบิตคอยน์พยายามขายเหรียญด้วยการอ้างสารพัดเหตุผลโน้มน้าว เช่น สังคมกึ่งไร้รัฐเผด็จการสังคมแบบยูโทเปีย ส่วนนาย “พ่อรวยสอนลูกรวย” ก็พยายามบอกว่าซื้อบ้านไม่ดี เอาเงินไปลงทุนดีกว่า (โดยเฉพาะบิตคอยน์) ข้างฝ่ายพวกโค้ชต่างๆ ก็บอกว่าคนเราไม่สามารถซื้อบ้านได้แล้ว ควรเช่าบ้าน แล้วเอาเงินไปซื้อบิตคอยน์ดีกว่า นี่คงเป็นขบวนการสมคบคิดกันทั้งนั้น

เราต้องระวังบิตคอยน์ให้ดีเพราะจะเป็นเครื่องมือในการสร้างจักรวรรดินิยมใหม่ขึ้นมาครองโลก