รุกเก็บภาษีเหมืองขุด”คริปโทฯ” 30% ขจัดปัญหา “ภาวะโลกร้อน”

รุกเก็บภาษีเหมืองขุด”คริปโทฯ” 30% ขจัดปัญหา “ภาวะโลกร้อน”

นักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีคาดหวังให้ราคาเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคา และตลาดที่คึกคัก จะกระตุ้นให้มีนักขุดคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น

ดัชนีวัดการใช้พลังงานสกุลเงินดิจิทัลที่พัฒนาโดย Cambridge Centre for Alternative Finance ศูนย์วิจัยด้านวิชาการของ Cambridge Judge Business School แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบการใช้พลังงานของสกุลเงินดิจิทัลอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 16.2 กิกะวัตต์ ในวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งสะท้อนถึงพลังงานที่ใช้ไปสำหรับการ “ขุด” บิตคอยน์ และประมวลผลธุรกรรมที่เกิดขึ้น

ในเดือนเมษายน The New York Times เผยแพร่รายงานรายละเอียดเกี่ยวกับพลังงานที่ใช้โดยนักขุดบิตคอยน์ขนาดใหญ่ 34 แห่งในสหรัฐ โดยใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่เท่ากันกับ 3 ล้านครัวเรือนในประเทศ ซึ่งรายงานก่อนหน้านี้ประเมินว่าการใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์เพียงอย่างเดียวนั้นมากกว่าบางประเทศทั้งปี เช่น อาร์เจนตินา นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์

เดิมทีการขุดบิตคอยน์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศจีน จนกระทั่งปี 2564 เมื่อประเทศจีนแบนการขุดคริปโทเคอร์เรนซี ทำให้สหรัฐขึ้นเป็นผู้นำแห่งธุรกิจเหมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหล่านักขุดบิตคอยน์เป็นหัวใจสำคัญของหลักการ “proof of work” ซึ่งทำให้เครือข่ายคริปโทเคอร์เรนซีทำงานต่อไปได้ ด้วยการถอดรหัสคอมพิวเตอร์ และประมวลผลธุรกรรม ซึ่งผู้ถอดรหัสจะได้รางวัลหรือผลตอบแทนเป็น “บิตคอยน์” หรือเหรียญคริปโทฯ ในโปโตคอลนั้นๆ โดยกระบวนการที่เรียกว่า “proof of work” ต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาล และยิ่งมีความยากในการถอดรหัสเพียงใดก็จะส่งผลต่อ ค่าพลังงานที่ใช้ด้วยเช่นกัน 

ธุรกิจเหมืองบันทึกขาดทุน

ในปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมคริปโทฯ เติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมทั้ง “บิตคอยน์” สกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 70% ยิ่งทำให้ “เหมืองขุดบิตคอยน์” เป็นธุรกิจที่น่าดึงดูดใจในกลุ่มนักลงทุน

ธุรกิจในตลาดเติบโตพร้อมกับอุปสรรค ได้แก่ ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และการแข่งขันในตลาดการทำเหมืองที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางตลาดขาลงในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ราคาบิตคอยน์ปรับตัวลดลง 2 ใน 3 จากราคาสูงสุดตลอดการได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเหมือง และสร้างแรงกดดันต่อตัวเลขงบดุลที่ต้องบันทึกขาดทุน

รวมทั้งส่งผลกระทบต่อหุ้นขุดบิตคอยน์ในสหรัฐปรับตัวลดลงหลายแห่ง เช่น Riot Platforms RIOT (RIOT), Marathon Digital MARA (MARA), Argo Blockchain ARB (ARB.U.K.) และ Core Scientific CORZQ (CORZQ) หรือสร้างผลกระทบหนักจนทำให้บางบริษัทต้องยื่นล้มละลาย 

แม้ว่าราคาบิตคอยน์จะดีดตัวกลับมาในปี 2566 และอยู่ในแนวต้านที่นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ แต่สำหรับนักขุดนั้นถือว่ายังไม่ใช่จุดที่ดีที่สุด 

ขุดคริปโทฯ กระทบสิ่งแวดล้อม

นักวิเคราะห์จาก Coin Metrics บริษัทด้านการเข้ารหัสข้อมูลอัจฉริยะ กล่าวถึงค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงเกินจริงเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจเหมืองขุดคริปโทฯ และอาจเลวร้ายยิ่งขึ้น หากรัฐบาลออกมาตรการในการจัดเก็บภาษีด้านพลังงาน 

เอ็ด มาร์กี้ วุฒิสมาชิกสหรัฐ และประธานการประชุมของคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมและงานสาธารณะ กล่าวถึงการใช้พลังงานของการทำเหมืองขุดคริปโทฯ โดยมาร์กี้เป็นผู้สนับสนุนร่างกฎหมายที่ผลักดันให้ธุรกิจเหมืองมีความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการ “ขุดคริปโทฯ” ควรได้รับความสนใจ” มาร์กี้ กล่าว และยังกล่าวอีกว่าอุตสาหกรรมคริปโทฯ เติบโตอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกาในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้พลังงานมาก และสร้างความมั่งคั่งแบบกระจุกเท่านั้น

 โจ ไบเดน รุกเก็บภาษีเหมืองคริปโทฯ 30%

เนื่องจากการขุดบิตคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยดัชนี Cambridge ชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอดีต ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยห้ามการขุดสินทรัพย์ดิจิทัล และเมื่อเร็วๆ นี้ กรมธนารักษ์ได้ออกนโยบายการเรียกเก็บภาษี 30% สำหรับไฟฟ้าที่ใช้โดยนักขุดคริปโทฯ

การที่ไม่ทราบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองขุดคริปโทฯ ทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลในการออกร่างกฎหมายเพื่อกำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ข้อมูลในการสำรวจผลกระทบทางภูมิอากาศ

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังกล่าวถึงการเรียกเก็บภาษีสำหรับการดำเนินธุรกิจ “เหมืองขุดคริปโทฯ” โดยทำเนียบขาวกำลังโน้มน้าวให้สภาคองเกรส ผ่านร่างกฎหมายภาษีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการเก็บภาษี 30% สำหรับนักขุด”คริปโทฯ”  

การเปลี่ยนแปลงนี้มีชื่อว่า ภาษี Digital Asset Mining Energy (DAME) โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อให้บริษัทเหมืองขุด เริ่มคำนึงถึง ‘อันตรายต่อสังคม’ ให้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้น และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีให้เหตุผลว่าภาษีดังกล่าวเป็น “ตัวอย่างความพยายามของฝ่ายบริหารในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดราคาพลังงาน”

ในปัจจุบัน บริษัทเหมืองขุดคริปโทฯ ไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่พวกเขาทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นรวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้น และผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นต่อสภาพอากาศ

สำหรับการเรียกเก็บภาษีมีแผนจะแบ่งเป็นระยะๆ ภายใน 3 ปี โดยเริ่มต้นที่ 10% ในปีแรก และเป็น 20% ในปีต่อมาและ 30% ในปีถัดไป  ซึ่งกว่า 10 ปี คาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ 

นักเศรษฐศาสตร์ขอ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งทำเนียบขาว (CEA) เสริมว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการขุดคริปโทฯ ยังคง “ไม่ชัดเจน” ในขณะที่ความกังวลยังคงปรากฏเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินของอุตสาหกรรม และความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 

นักวิจารณ์เชื่อว่ารัฐบาลทำข้อเสนอนี้เพื่อทำลายอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไม่สนับสนุน ซึ่งนโยบายการเรียกเก็บภาษี หรือ DAME อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานี้ และการเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า นั่นอาจกระตุ้นให้บริษัททำเหมืองลดการใช้พลังงานให้เหลือน้อยที่สุด และต้องหาแหล่งพลังงานที่สะอาดเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์