Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 7 August 2023

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 7 August 2023

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย หลังตัวเลขเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางความกังวลอุปทานตึงตัว

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 80 – 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76 – 86 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 7 August 2023

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 - 11 ส.ค. 66)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงเล็กน้อย หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ยังคงต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ของสหรัฐฯ และยอดขายบ้านของจีน ในเดือน ก.ค. ยังคงอ่อนแอเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงกดดันภายหลังการปรับลดอันดับเครดิตของรัฐบาลสหรัฐฯ ลง ด้านกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เตรียมยกเลิกการซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมคลัง SPR อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันโลกตึงตัว ภายหลังกำลังผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) ปรับลดลง ประกอบกับการส่งออกน้ำมันดิบทางทะเลของรัสเซียมีแนวโน้มปรับลดลงเช่นเดียวกันในเดือน ส.ค. รวมถึงสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มปรับลดลง จากการส่งออกน้ำมันดิบและความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. ยังคงต่ำกว่า 50 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันนับตั้งแต่ พ.ย. 65 อย่างไรก็ดี ดัชนีมีการปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.4 จากระดับ 46.0 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ เดือน ก.ค. ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเช่นกันที่ 47.3 และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ระดับ 48.0 นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ของยูโรโซน ในเดือน ก.ค. ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42.7 จากระดับ 43.4 ในเดือนก่อนหน้า ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน

- ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ในเดือน ก.ค. ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.2 จากระดับ 50.5 ในเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ยอดขายบ้านในเดือน ก.ค. ปรับลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงกว่า 33.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

- เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย โดยล่าสุด Fitch rating ปรับลดอันดับเครดิตของรัฐบาลสหรัฐฯ ลงจากระดับ AAA สู่ระดับ AA+ จากความกังวลต่อหนี้สาธาณะของรัฐบาลซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง แม้การเจรจาเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ระหว่างคณะผู้ทำงานของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน จะบรรลุข้อตกลงในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เครดิตระดับ AA+ ยังคงถืออันดับเครดิตที่สูงที่สุด การปรับลดเครดิตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเศรษฐกิจภาพรวมของสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันเช่นเดียวกัน


 

- กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เตรียมยกเลิกการซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ปริมาณ 6 ล้านบาร์เรลที่ประกาศเข้าซื้อเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 66 ภายหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเข้าซื้อน้ำมันดิบที่ราคา 67-72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

- Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) ในเดือน ก.ค. อยู่ที่ระดับ 27.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยกำลังผลิตของซาอุดิอาระเบียปรับลดลง 0.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ตลาดคาดการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียทางทะเลบอลติกมีแนวโน้มปรับลดลง 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายหลังรัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบทางทะเลที่ระดับ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ขณะที่ซาอุดิอาระเบียประกาศขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อไปจนถึงเดือน ก.ย. 66 เช่นเดียวกับรัสเซียที่ประกาศลดการส่งออก 300,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. 66

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ค. 66 ปรับลดลง 17 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 439.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน ภายหลังโรงกลั่นน้ำมันดิบเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ รวมถึง การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยการส่งออกน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 5.28 ล้านบาร์เรล 

- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ตัวเลขการนำเข้าและส่งออก เดือน ก.ค. 66 และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน ก.ค. 66 และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ก.ค.

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 - 4 ส.ค. 66)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.24 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 82.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 86.24 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 87.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังซาอุดิอาระเบียประกาศขยายเวลา การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจ ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 66 เช่นเดียวกับรัสเซียซึ่งประกาศลดการส่งออกน้ำมันจำนวน 300,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ย. 66 ขณะที่ตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 ก.ค. 66 ปรับตัวลดลง 17 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 439.8 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงกดดันจาก Fitch rating ที่มีการปรับลดอันดับเครดิตของรัฐบาลสหรัฐฯ ลง จากความกังวลต่อหนี้สาธาณะของรัฐบาลซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีความน่าสนใจน้อยลงสำหรับผู้นำเข้าที่ถือสกุลเงินอื่น