MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 10-14 กรกฎาคม 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 10-14 กรกฎาคม 2566

เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยกลับมาปิดเหนือ 1,500 จุดได้อีกครั้ง เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว กระตุ้นการคาดการณ์ว่าเฟดอาจใกล้ยุติวัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว

อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่ายังคงจำกัด เนื่องจากยังมีปัจจัยการเมืองที่ต้องติดตามใกล้ชิด

•    SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบเกือบตลอดสัปดาห์ ก่อนจะดีดตัวขึ้นและกลับมายืนเหนือ 1,500 จุดได้ในช่วงท้ายสัปดาห์ตามตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีแรงหนุนจากความหวังว่า เฟดใกล้ยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 

 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านออกมาแสดงความเห็นว่า แม้เฟดจะยังคงต้องคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ก็ยอมรับว่า เฟดน่าจะกำลังใกล้ยุติวัฎจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว 

เงินดอลลาร์ฯ ยังคงเผชิญแรงเทขายต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ หลังสัญญาณชะลอตัวของตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย.) หนุนการคาดการณ์ของตลาดที่ว่า แม้เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC เดือนก.ค. แต่ก็อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกไม่มากแล้วหลังจากนั้น อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศเริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 10-14 กรกฎาคม 2566

ในวันศุกร์ที่ 14 ก.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์) เทียบกับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 ก.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 10-14 ก.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 514 ล้านบาท และ 3,570 ล้านบาท ตามลำดับ 
 

สัปดาห์ถัดไป (17-21 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.00-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองไทย และสัญญาณเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ก.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR และตัวเลขเศรษฐกิจจีน อาทิ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/66 การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และอัตราว่างงานเดือนมิ.ย.

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย


ดัชนีหุ้นไทยกลับมาปิดเหนือ 1,500 จุดได้อีกครั้ง ทั้งนี้หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบเกือบตลอดสัปดาห์ระหว่างรอติดตามความคืบหน้าทางการเมือง ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ แม้สถานการณ์การเมืองในประเทศจะยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่องหลังสิ้นสุดการโหวตนายกรัฐมนตรีในรอบแรก โดยหุ้นไทยมีแรงหนุนเช่นเดียวกับหุ้นภูมิภาคท่ามกลางความคาดหวังว่าเฟดใกล้จะยุติวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ ยังมีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่มแบงก์ก่อนการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/66

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 10-14 กรกฎาคม 2566

ในวันศุกร์ที่ 14 ก.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,517.92 จุด เพิ่มขึ้น 1.84% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,927.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.10% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.79% มาปิดที่ระดับ 461.71 จุด
 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,505 และ 1,485 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศและผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนมิ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร