MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 29 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 29 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2566

เงินบาทพลิกแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปิดใกล้เคียงระดับปิดสัปดาห์ก่อน    เงินบาทอ่อนค่าในช่วงแรก แต่พลิกแข็งค่ากลับมาช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่ตลาดปรับการคาดการณ์กลับมาให้น้ำหนักกับโอกาสที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC 13-14 มิ.ย. นี้ 

•    SET Index ฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ หลังนักลงทุนคลายกังวลประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ แม้ระหว่างสัปดาห์จะเผชิญแรงกดดันจากตัวเลขส่งออกของไทยที่หดตัวมากกว่าคาดและสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทพลิกแข็งค่าทดสอบแนว 34.50 ช่วงปลายสัปดาห์ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 34.89 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ จากตัวเลขเงินเฟ้อ PCE/Core PCE เดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ซึ่งหนุนโอกาสการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของเฟด นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนเม.ย. ที่หดตัวลงมากกว่าที่คาด และจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อนึ่ง เงินบาทได้รับแรงหนุนไม่มากนัก หลังกนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 2.00% ตามการคาดการณ์ของตลาด   

อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ หลังสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยมีน้อยลง ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ทยอยปรับตัวลงตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูล ISM ภาคการผลิตที่อ่อนแอและท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด กระตุ้นให้ตลาดทยอยปรับการคาดการณ์กลับมาให้น้ำหนักกับโอกาสที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 5.00-5.25%  ในการประชุม FOMC วันที่ 13-14 มิ.ย. นี้

 

 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 29 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2566

ในวันศุกร์ที่ 2 มิ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 พ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 29 พ.ค.-2 มิ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 8,615.08 ล้านบาท และ 6,664.85  ล้านบาท ตามลำดับ

สัปดาห์ถัดไป (5-9 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.30-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองและอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนพ.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนพ.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ข้อมูลการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต  
 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยปิดใกล้เคียงระดับปิดสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงแรก ท่ามกลางความคาดหวังเชิงบวกต่อข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐฯ ก่อนจะทยอยย่อตัวลงในเวลาต่อมาโดยมีแรงกดดันจากตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย. ของไทยที่หดตัวมากกว่าตลาดคาด สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงแรงขายสุทธิต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ หลังสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้สำเร็จ สำหรับสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นตามแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคป ส่วนหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นรับอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น

 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 29 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2566

ในวันศุกร์ (2 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,531.20 จุด เพิ่มขึ้น 0.02% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 53,168.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.04% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.50% มาปิดที่ระดับ 486.80 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,520 และ 1,500 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนพ.ค. ข้อมูลนำเข้าและส่งออกเดือนเม.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ดัชนี PMI ภาคบริการ ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต