MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 22 - 26 พฤษภาคม 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 22 - 26 พฤษภาคม 2566

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน     เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังเป็นไปในเชิงคุมเข้ม

•    SET Index ขยับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แต่ย่อตัวลงบางส่วนช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนรอติดตามประเด็นการเมืองในประเทศ รวมถึงประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ 
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคและสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้นตามการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และยังมีแรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดและข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาด ซึ่งกระตุ้นให้ตลาดบางส่วนกลับมาประเมินโอกาสความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย.ใหม่อีกครั้ง แม้เสียงส่วนใหญ่จะมองว่า เฟดน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมก็ตาม    

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนลดช่วงอ่อนค่าลงมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดกลับมารอติดตามผลการประชุมกนง. (31 พ.ค.) และ ข้อสรุปของการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ     

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 22 - 26 พฤษภาคม 2566

ในวันศุกร์ที่ 26 พ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 พ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 22-26 พ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 12,189 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 20,824 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 17,664 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 3,160 ล้านบาท) 

สัปดาห์ถัดไป (29 พ.ค.-2 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.30-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (31 พ.ค.) สถานการณ์การเมืองในประเทศ ตัวเลขการส่งออก/รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนเม.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ข้อมูล JOLTS เดือนเม.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน 

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยชะลอลงปลายสัปดาห์ แต่ยังปิดสูงกว่าสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงแรกตามแรงซื้อคืนหลังร่วงลงแรงก่อนหน้านี้ ประกอบกับนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นการเมือง หลังจากมีความชัดเจนเกี่ยวกับ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ขณะที่หุ้นกลุ่มแบงก์ดีดตัวขึ้นรับโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ในการประชุมวันที่ 31 พ.ค. นี้ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนกลับมารอติดตามประเด็นการเมืองในประเทศและการเจรจาเพื่อปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ นอกจากนี้หุ้นกลุ่มพลังงานยังย่อตัวลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก หลังมีข่าวว่า OPEC+ อาจไม่ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมในการประชุมรอบหน้า

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 22 - 26 พฤษภาคม 2566

ในวันศุกร์ (26 พ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,530.84 จุด เพิ่มขึ้น 1.05% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,456.70 ล้านบาท ลดลง 15.57% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.75% มาปิดที่ระดับ 484.38 จุด
 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 พ.ค.-2 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,520 และ 1,500 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (31 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ค.  ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน