Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 6 February 2023

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 6 February 2023

ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันโลกยังคงเติบโตต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72 - 82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 77 - 87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 6 February 2023

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 ก.พ. – 10 ก.พ. 66) 

    ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากประเทศจีนยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับมาดำเนินการเปิดประเทศอีกครั้ง นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโต คาดจะช่วยสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันให้เติบโตในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียที่ปรับเพิ่มขึ้นและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับขึ้น 
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 

-  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 2.9% ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.2% จากการคาดการณ์ในเดือน ต.ค. 65 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นจากการยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับมาดำเนินการเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งคาดจะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของราคาพลังงาน

-  การประชุม JMMC Meeting ของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 1 ก.พ. 66 ทางกลุ่มผู้ผลิตยังคงแผนเดิมในการปรับลดกำลังการผลิตที่ 2.0 ล้านบาร์เรล เนื่องจากตลาดยังมีความเสี่ยงจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับลดลงและความไม่แน่นอนของผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของยุโรปสำหรับการนำเข้าน้ำมันดิบของรัสเซีย 

-  ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นปรับลดปริมาณการกลั่นลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลง สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม 4.1 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่งโอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่ เดือน ก.ค. 2564
 

 

 

-  การส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียยังคงอยู่ในระดับสูงและยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยรัสเซียสามารถส่งออกน้ำมันดิบไปขายที่ประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดีย ได้เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์จาก FGE พบว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียเดือน ม.ค.66 อยู่ที่ราว 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า และคาดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน ก.พ. 66  ส่งผลให้อุปทานจากรัสเซียลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ

-  ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% สู่ระดับเป้าหมาย 4.50%-4.75% ในการประชุมวันที่ 1 ก.พ. 66  ซึ่งลดลงจากการประชุมครั้งก่อนหน้าที่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.5% ทั้งนี้ FED คาดจะยังปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อให้กลับมาสู่ระดับปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ

-  เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการนำเข้าและส่งออกของจีน ในเดือน ม.ค. 66 ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจีนกลับมาดำเนินการเปิดประเทศ ตัวเลขค้าปลีกยุโรปเดือน ม.ค. 66 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ม.ค – 3 ก.พ. 66)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.51 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 73.39 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 4.96 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 79.94 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 79.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 27 ม.ค. 66 ปรับเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 452.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 4 แสนบาร์เรล  ขณะที่ ปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6 และ 2.3 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ  อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงสนับสนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สู่ระดับเป้าหมาย 4.50%-4.75%