KTB - รวมกันมันส์กว่า (8 ธันวาคม 2565)

KTB - รวมกันมันส์กว่า (8 ธันวาคม 2565)

เรามองว่าข่าวการที่ KTB ทำการศึกษาและเตรียมจะเข้าลงทุนในธุรกิจ virtual bank เป็นข่าวบวก เพราะเป็นการยืนยันว่า KTB เดินหน้าพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

และระบบการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด (cashless) ซึ่งจะส่งผลดีกับ KTB ในระยะยาว  ในแง่ของการประหยัดต้นทุน และประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เรายังคงคำแนะนำ ซื้อ KTB และประเมินราคาเป้าหมายที่ 23 บาท

 

บริษัทชั้นนำจับมือกันเพื่อศึกษาและพัฒนา virtual bank

สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่าบริษัทชั้นนำสามแห่งซึ่งได้แก่ KTB (ธนาคาร), ADVANC (สื่อสาร) และ GULF (พลังงาน) ได้ลงนามใน MOU เพื่อศึกษาและลงทุนในธุรกิจ virtual banking เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และระบบการชำระเงินแบบ cashless payment เราเชื่อว่าธุรกิจ virtual banking จะเป็นเทรนใหม่ของภาคการเงินในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่ไปทำธุรกรรมทางการเงินที่สาขาธนาคารแล้ว อย่างไรก็ตาม virtual bank อาจจะเป็นภัยคุกคาม (threat) ที่แท้จริงของธุรกิจแบบดั้งเดิมหากไม่มีการปรับตัว เพราะ virtual bank ไม่จำเป็นต้องมีการเปิดสาขาจริง ดังนั้นงบดุลจะเบากว่า ซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า ซึ่งหมายถึงโมเดลธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารแบบ traditional ที่ต้องแบกต้นทุนการลงทุนหนักในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์ หมายความว่า virtual bank อาจจะสามารถทำกำไรได้เท่ากันโดยใช้เงินลงทุนต่ำกว่า

 

 

 

เก็บเพื่อนไว้ใกล้ตัว แต่เก็บศัตรูไว้ใกล้ยิ่งกว่า

แม้ว่า KTB และธนาคารระดับแนวหน้าอื่น ๆ ในประเทศไทยจะทำการพัฒนาระบบใหม่ ๆ และ platform ดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การที่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆในอนาคตสามารถเข้ามาในตลาด virtual bank ได้จะทำให้การแข่งขันในธุรกิจธนาคารเข้มข้นขึ้น และในที่สุดอาจจะเข้ามาแทนที่ธนาคารแบบดั้งเดิม (traditional) แต่แทนที่จะฝืนสู้กับกระแสที่ไม่อาจต้านได้ KTB เลือกที่จะเข้าร่วมกับธุรกิจใหม่แทน ซึ่งเรามองว่าน่าจะเป็นบวกกับ KTB มากกว่าลบ เรามองว่าความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลดีกับ KTB ทั้งจากโอกาสในการเข้าสู่ฐานลูกค้า และข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจากผู้ใช้มือถือเกือบ 50 ล้านเลขหมายของ AIS และจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน นอกจากนี้ KTB ยังสามารถติดตามวิวัฒนาการของธุรกิจ virtual banking ได้อย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจของตัวเอง ถึงแม้ว่าโมเดลธุรกิจแบบที่มีสินทรัพย์ต่ำ (asset-light) ของ virtual bank จะผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศในเอเชีย แต่ธนาคารที่ให้บริการแบบดิจิทัลล้วน ๆ ยังมีข้อจำกัดอยู่ และอาจจะไม่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าบางกลุ่ม ดังนั้นเราเชื่อว่าในระยะยาว platform ของธุรกิจธนาคารที่มีสินทรัพย์มาก (asset-heavy) อาจจะยังจำเป็นอยู่ และการใช้โมเดลธุรกิจแบบควบคู่กันไป (dual model) อาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะกว่า

 

 

 

ความร่วมมือในช่วงแรกจะเน้นที่ point pay เป็นหลัก

ผู้บริหารของ KTB เปิดเผยวานนี้ว่าธนาคารกำลังเจรจาอยู่กับบริษัทหลายแห่งซึ่งมีโอกาสสูงที่จะร่วมเป็นพันธมิตรในธุรกิจ virtual bank ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่าง KTB-AIS-GULF ในช่วงแรกจะมุ่งเน้นที่ point pay (อย่างเช่น AIS point) เป็นหลัก โดยในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนมากขึ้นของธุรกิจนี้จาก ธปท. ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2023 ก่อนที่จะเริ่มออกใบอนุญาต virtual bank ได้ในปี 2024 เราคิดว่าข่าวนี้จะช่วยยืนยันว่า KTB ไม่ได้ตก trend เพราะยังมีการเดินหน้าพัฒนาโมเดลธุรกิจธนาคาร และกลยุทธ์ที่จะทำให้การดำเนินงาน และอัตรากำไรดีขึ้น เรายังคงคำแนะนำซื้อ KTB และประเมินราคาเป้าหมายที่ 23 บาท อิงจาก PB ที่ 0.75x โดยคาดว่า ROE จะอยู่ที่ 8% และ payout ratio จะอยู่ที่  35%