เทรดวันสุดท้ายก่อนหยุดยาว (12 ตุลาคม 2565)

เทรดวันสุดท้ายก่อนหยุดยาว (12 ตุลาคม 2565)

วันอังคารที่ผ่านมา ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดช่วงการซื้อ-ขาย นักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ จากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยนักลงทุนติดตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ย. ของสหรัฐ ในวันที่ 13 ต.ค. ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง

ส่งผลให้ดัชนี SET Index ปิดตลาดที่ 1,562.68 จุด -7.89 จุด -0.50% มูลค่าการซื้อขาย 51,877 ลบ. ต่างชาติ -363.98 ลบ. TFEX -10,991 สัญญา ตราสารหนี้ -4,063.02 ลบ.
 

ปัจจัยบวก

+ ดัชนีดาวโจนส์ปิด เพิ่มขึ้น 36.31 จุด หรือ +0.12% ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ได้รับแรงกดดันจากการที่ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก และ BoE ส่งสัญญาณยุติการพยุงตลาดพันธบัตร
+ สายการบินต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดบริการเที่ยวบินอีกครั้งในเดือนนี้ หลังจากที่ต้องยกเลิกไปในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์และสกู๊ตประกาศเพิ่มเที่ยวบินหลายสิบเที่ยว เพื่อเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วเอเชีย
+ รัฐบาลเวียดนามระบุว่า เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัว 8% ในปีนี้ ซึ่งสูงเหนือเป้าหมายอย่างเป็นทางการที่การขยายตัว 6.0% - 6.5%
+ รัฐบาลเตรียมใช้งบกลางฯ 23,000 ล้านบาท เยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำท่วม 6,000 ล้านบาท และอีก 17,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี
+ ททท. มั่นใจว่าตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลางและอเมริกาปี 65 จะสร้างรายได้ตามเป้าหมายที่ 3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้จากตลาดต่างประเทศในปีนี้ โดยมีเป้าหมายรวม 1 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 70% จะเป็นรายได้ที่มาจากตลาดระยะใกล้ที่มั่นใจได้ว่าจะดำเนินการได้ตามเป้าหมายเช่นกัน

 

ปัจจัยลบ  

- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 1.78 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 89.35 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน
- IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9% โดยระบุว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน วิกฤตค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
 

- G7 ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซียที่ได้ยิงขีปนาวุธถล่มเป้าหมายพลเรือนในยูเครน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
- กนง. ชี้แจงว่าการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อทั่วไปที่ออกนอกกรอบเป้าหมาย 1-3% โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.65 กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่เงินเฟ้อทั่วไป 12 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.64-ก.ย.65 อยู่ที่ 5.23% สูงกว่ากรอบเป้าหมาย เพราะราคาพลังงานและราคาสินค้าโลกปรับตัวสูง มีผลต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าปรับตามไปด้วย

 

แนวโน้มตลาดวันนี้

คาดดัชนีในวันนี้แกว่งตัวในลักษณะ Sideway ออกข้าง โดยคาดว่าปริมาณการซื้อขายจะเบาบางเนื่องจากติดวันหยุดยาว ประกอบกับนักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยดัชนี CPI เดือนก.ย.ของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ คาดกรอบดัชนีในวันนี้ที่ 1,555-1570 จุด

 

กลยุทธ์การลงทุน

• หุ้นซ่อมแซมหลังน้ำท่วม : GLOBAL DOHOME HMPRO TOA DPAINT COTTO DCC TASCO
• ศบค. มีมติยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน : ERW CENTEL VRANDA ASAP SPA
• ตัวเลขส่งออกเดือน ส.ค. เติบโต : BRR KSL TFG GFPT ASIAN JUBILE
• หุ้นเด่น IAA : ADVANC AOT BBL KBANK

 

 

หุ้นรายงานพิเศษ

                                               ARROW ( “ซื้อ” ราคาเหมาะสมปี 23 เท่ากับ 8.00 บาท)

                                                              คาด 2H22 อัตรากำไรขั้นต้นฟื้น

เทรดวันสุดท้ายก่อนหยุดยาว (12 ตุลาคม 2565)

•กำไรสุทธิงวด 1H22 คิดเป็น 38.2% ของประมาณการทั้งปีของเรา เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นที่อ่อนแอกว่าคาด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบเหล็กปรับตัวสูงขึ้น เราจึงปรับลดอัตรากำไรขั้นต้นปี 22 จาก 22.0% เป็น 21.0% (บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นปี 22 ให้อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 20%) ได้ประมาณการกำไรสุทธิใหม่เท่ากับ 107.7 ล้านบาท (-8.5% จากประมาณการเดิม) โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 23 ที่ 127.3 ล้านบาท +18.2%YoY โดยเราคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในช่วง 2H22-23 จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากบริษัทได้มีการเจรจากับลูกค้าบางส่วนเพื่อที่จะยกเลิกคำสั่งซื้อล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบเหล็กที่ผันผวน ทั้งนี้เรายังคงประมาณการรายได้ปี 22-23 เท่ากับ 1,206.8 ล้านบาท และ 1,303.3 ล้านบาท เติบโต +19.0%YoY และ +8.0%YoY

•ความเห็น เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” โดยประเมินราคาเหมาะสมอิง PER ที่ 16 เท่า (ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี) ภายใต้สมมติฐานประมาณการปี 23 ได้ราคาเหมาะสมเท่ากับ 8.00 บาท ยังมี Upside จากราคาปัจจุบัน พร้อมคาดหวังอัตราปันผลราว 4-5% ต่อปี

 

หุ้นมีข่าว

(+) JR ( Bloomberg Consensus 8.00 บาท) ก้าวไปอีกขั้น ผนึกยักษ์ก่อสร้าง "โตโย-ไทย" รุกงานระบบอิเล็กตริคัลโปรเจ็กต์กลุ่มพลังงานออยล์แอนด์แก๊ส ชี้เป็นธุรกิจแข่งขันน้อย ได้สเกลงานใหญ่ขึ้น ดันฐานการรับงานชิ้นใหญ่ขึ้น ชู Q4/2565 ฟอร์มเด่น โครงการเรียงคิวอื้อซ่า เตรียมเซ็นสายสีเหลือง-ชมพู มูลค่า 7 พันล้านบาทสิ้นปี พร้อมยื่นงานใหม่ 2 พันล้านบาท (ที่มา ทันหุ้น)

(+) BGRIM ( Bloomberg Consensus 44.00 บาท)ประกาศซื้อกิจการเครือยูนีซัน รุกธุรกิจเฮลธ์แคร์ เสริมแกร่งรองรับการขยายธุรกิจต่อไปเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านธุรกิจสุขภาพของประเทศไทย ขณะที่มีแผนการลงทุนด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มเติม สำหรับรองรับและส่งเสริมธุรกิจการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรอีกด้วย ด้านโบรกคาดกำไรปกติไตรมาส 3/2565 ที่ราว 150-200 ล้านบาท ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการปรับขึ้นค่า Ft รวมถึงการ COD โรงไฟฟ้า SPP Replacement 1 (ที่มา ทันหุ้น)

(+) NER (Bloomberg consensus 9.65 บาท) คาดยอดขายไตรมาส 4/65 โต โชว์ออเดอร์ลากยาวถึงต้นปีหน้า ล่าสุดเนื้อหอม! ลูกค้ารายใหญ่ในอุตสาหกรรมยางล้อจากอินเดียเตรียมเข้ามาตรวจคุณภาพโรงงานสัปดาห์หน้า มั่นใจผ่านเกณฑ์ได้ลูกค้าเสริมพอร์ต มั่นใจปีนี้รายได้ 2.8 หมื่นล้านบาท ปริมาณขายพุ่ง 4.6-4.8 แสนตันตามแผน ส่วนผลงานไตรมาส 3/65 ส่งซิกโตจากไตรมาสก่อน เล็งประกาศงบ 8 พ.ย.นี้ (ที่มา ข่าวหุ้น)

(+) EGCO (Bloomberg consensus 220.00 บาท) ลั่นปีนี้ยังมีปัจจัยบวกหนุน พร้อมลุ้นข่าวดีเตรียมปิดดีล M&A เพิ่มในเร็วๆ นี้ โบรกฯ ฟันธงโรงไฟฟ้าพาจู สร้างกำไรโดดเด่นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หลังความต้องการใช้ไฟฟ้าเกาหลีใต้พุ่งสูงช่วงปลายปี และสามารถบริหารจัดการต้นทุนก๊าซได้เป็นอย่างดี ดันมาร์จิ้นเพิ่ม (ที่มา ข่าวหุ้น)