ญี่ปุ่นรอด ศก.ถดถอย ปรับขึ้นจีดีพี เตรียมรับ BOJ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกใน 17 ปี

ญี่ปุ่นรอด ศก.ถดถอย ปรับขึ้นจีดีพี เตรียมรับ BOJ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกใน 17 ปี

ญี่ปุ่นทบทวนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปรับขึ้นเป็นโต 0.4% ดันเศรษฐกิจรวมปี 2566 รอดพ้นภาวะถดถอย เตรียมรับมือประชุมธนาคารกลางที่คาดว่าจะยุตินโยบาย 'ดอกเบี้ยติดลบ' ไม่เดือนนี้ก็เดือนหน้า

คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ฉบับทบทวนใหม่ โดยจีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 0.4% จากคาดการณ์เดิมว่าจะติดลบ 0.4% ซึ่งการปรับขึ้นจีดีพีครั้งนี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่จีดีพีติดลบ 2 ไตรมาสติดกันมาได้ และคาดว่าจะสนับสนุนการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่น ในเร็วๆ นี้

การทบทวนจีดีพีดังกล่าวมีขึ้นเพียงแค่ 1 สัปดาห์ ก่อนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะประชุมนโยบายการเงินซึ่งบรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บีโอเจะยุติมาตรการ "ดอกเบี้ยติดลบ" ที่มีมาอย่างยาวนานด้วยการ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา โดยอาจประกาศภายในเดือน มี.ค.นี้ หรือในการประชุมเดือนหน้า

ญี่ปุ่นรอด ศก.ถดถอย ปรับขึ้นจีดีพี เตรียมรับ BOJ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกใน 17 ปี

บลูมเบิร์กระบุว่า ตลาดสวอปข้ามคืนให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มี.ค. เพิ่มเป็น 65% โดยนอกจากตัวเลขจีดีพีที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีสัญญาณเศรษฐกิจเชิงบวกอีกหลายตัวที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยของญี่ปุ่น อาทิ ค่าแรงที่ปรับตัวขึ้นในปีนี้ และรายจ่ายในการลงทุน (Capex) ของภาคเอกชน แม้ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะปรับตัวลง 0.3% เนื่องจากแรงกดดันของเงินเฟ้อก็ตาม 

สัญญาณเศรษฐกิจที่เหลือในขณะนี้ คือการเจรจาต่อรองค่าตอบแทนรายปีกันระหว่างตัวแทนกลุ่มบริษัทเอกชนกับบรรดาสหภาพแรงงาน ที่จะออกมาในวันศุกร์ที่ 15 มี.ค.นี้ ก่อนการประชุมของบีโอเจในสัปดาห์หน้า ซึ่งบีโอเจเคยระบุว่าค่าแรงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพิจารณาเรื่องเงินเฟ้อและดอกเบี้ย โดยเรนโก้ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานขอขึ้นค่าจ้างเพิ่ม 5.85% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1993 และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ปรับขึ้น 4.49%