เกาหลีใต้ปลุกตลาดคาร์บอนเครดิต ออก "ตราสารหนี้ ETN" ขายรายย่อยครั้งแรก!

เกาหลีใต้ปลุกตลาดคาร์บอนเครดิต ออก "ตราสารหนี้ ETN" ขายรายย่อยครั้งแรก!

เกาหลีใต้จ่อขึ้นแท่นประเทศแรกในเอเชียที่ออกตราสารหนี้ 'ETN' เกี่ยวกับคาร์บอน ขายนักลงทุนรายย่อยเป็นครั้งแรก หวังกระตุ้นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ซบเซา

KEY

POINTS

  • ETN คือตราสารหนี้ระยะยาว Exchange Traded Note มีลักษณะคล้าย ETF คือมีสินทรัพย์อ้างอิงและมีผลตอบแทนแก่นักลงทุนอ้างอิงสินทรัพย์นั้น
  • ETN ที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเครดิตและขายให้นักลงทุนรายย่อย ยังเป็นเรื่องใหม่ในฝั่งเอเชีย เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังมีแค่ธุรกิจเอกชนกับสถาบันการเงินเท่านั้น
  • เกาหลีใต้จะออกตราสารหนี้ระยะยาวตัวนี้มา "ทดสอบตลาด" ก่อนที่จะออก ETF และฟิวเจอร์สตามมาในปี 2568

เกาหลีใต้จ่อขึ้นแท่นประเทศแรกในเอเชียที่ออกตราสารหนี้ 'ETN' เกี่ยวกับคาร์บอน ขายนักลงทุนรายย่อยเป็นครั้งแรก หวังกระตุ้นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ซบเซา

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า "เกาหลีใต้" มีแผนการเตรียมออกตราสารหนี้ระยะยาว (Exchange Traded Note) หรือ "ETN" ที่เกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในเดือน ส.ค. ปีนี้ ซึ่งจะทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ออก ETN คาร์บอนมาจำหน่ายแก่นักลงทุนรายย่อย เพื่อกระตุ้นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่กำลังซบเซา 

อียองซอก อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ กล่าวว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมกำลังทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้และบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศ เพื่อเตรียมการออกตราสาร ETN มาจำหน่ายแก่นักลงทุนรายย่อยภายในเดือน ส.ค. นี้  

"ก่อนอื่นเราจะเปิดตัว ETN ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราในการทดสอบตลาด ก่อนที่เราจะเปิดตัวกองทุน ETF และตลาด Futures เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนต่อไป" 

"เป้าหมายของเราคือการเพิ่มสภาพคล่อง ด้วยการดึงกลุ่มคนมาเข้าร่วมตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้กว้างขึ้น และจะดำเนินการคล้ายกับวิธีการทำงานของตลาดยุโรป" อียองซอกกล่าว

ทั้งนี้ ETN คือตราสารหนี้ระยะยาวที่มีลักษณะคล้ายกับกองทุน ETF คือมีสินทรัพย์อ้างอิงและมีผลตอบแทนแก่นักลงทุนอ้างอิงสินทรัพย์นั้น โดยก่อนหน้านี้หลายประเทศในฝั่งยุโรปที่มีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตก้าวหน้ากว่าในภูมิภาคอื่นๆ ต่างก็มีการออกตราหนี้ ETN เพื่อขายรายย่อยกันมาแล้ว

แต่ในฝั่งเอเชีย เช่น เกาหลีใต้นั้น แม้จะมีการเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตมาแล้วตั้งแต่เมื่อ 9 ปีก่อน หรือในปี 2558 ซึ่งครอบคลุมบริษัทมากถึงเกือบ 700 แห่ง แต่ตลาดกลับซบเซาและไม่สามารถกระตุ้นให้บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซลงได้มากนัก เนื่องจากมีการออกใบอนุญาตให้มากเกินไป และ 90% เป็นการให้ฟรี 

รายงานระบุว่า หลังจากเพิ่มสภาพคล่องและทดสอบตลาดแล้ว รัฐบาลมีแผนจะออกกองทุน ETF เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตตามมาอย่างเร็วที่สุดภายในช่วงต้นปี 2568 และจะออกตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ตามมา 

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดดัชนีใหม่ที่ติดตามตลาดคาร์บอนเครดิต รัฐบาลยังคุยกับบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศเพื่อหารือถึงการออกผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเครดิตด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนจำกัดหรือลดการออกใบอนุญาตซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปี 2568 เพื่อให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น