เขย่าวงการ "ธ.ก.ส." รับซื้อคาร์บอนเครดิต ราคากึ่ง CSR ตันละ 3,000 บาท

เขย่าวงการ "ธ.ก.ส."  รับซื้อคาร์บอนเครดิต ราคากึ่ง CSR ตันละ 3,000 บาท

คาร์บอนเครดิตเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งการซื้อขายต่างๆ เพื่อนำมาชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยไป แต่การทำคาร์บอนเครดิตนั้นยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน อย่างงบประมาณในการประเมินที่สูงซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงยาก หากการช่วยเหลือจากภาคต่างๆ จะสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

Key point :

  • โครงการ BAAC Carbon Credit  เป็นการซื้อ  ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ การครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐาน
  • ธ.ก.ส.ซื้อ และขายคาร์บอนเครดิตกึ่ง CSR ในราคาตันละ 3,000 บาท เป็นราคาที่สูงที่สุดในโลก 
  • สนับสนุนให้เกษตรกร “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน
  • พื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า  โครงการ BAAC Carbon Credit  เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ การครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ และตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก  การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจาก อบก. เพื่อนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าว ตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน  และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  โดยนำร่องโครงการธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น 

 

 

ซึ่งจำนวนคาร์บอนเครดิต 400 ตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. ซื้อและขายกึ่ง CSR (ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท)  ในราคาตันละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในโลก  โดยคิดเป็นเงินรวม 1,200,000 บาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ 842,100 บาท โครงการนี้ช่วยสร้างรายได้กลับคืนผู้ปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะมาดูดซับปริมาณคาร์บอน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทย สามารถบรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้

ต้นไม้

ทั้งนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกร “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้ จนปัจจุบันมีชุมชนธนาคารต้นไม้ 6,814 ชุมชน มีสมาชิก 124,071 คน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนในโครงการกว่า 12.4 ล้านต้น มูลค่าต้นไม้กว่า 43,000 ล้านบาท และการยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่า มีการนำต้นไม้ที่ปลูกมาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน และนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้

ในปัจจุบัน ธ.ก.ส. สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้/ป่าไม้ ปีละ 116 ล้านบาท และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมกับชุมชนธนาคารต้นไม้ดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ด้านหลักการคิดคำนวณต้นไม้ 1 ต้น สร้างปริมาณคาร์บอนเครดิตได้เฉลี่ย 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี    

ซึ่งพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ณ ราคาขายกึ่ง CSR 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน บนอัตราคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 70/30) เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อย่าง ค่าขึ้นทะเบียนต้นไม้ในแต่ละต้น การตรวจนับและประเมิน การออกใบรับรอง เป็นต้น คิดเป็น 30% ของมูลค่าการขาย ดังนั้น เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายที่ 70% ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี 

หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี โดยปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก และได้รับใบประกาศเกียรติคุณ LESS จาก อบก. แล้ว 84 ชุมชน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้กว่า 2.7 ล้านตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนเงินทุนให้กับชุมชนธนาคารต้นไม้ในการกักเก็บคาร์บอนแล้ว จำนวนกว่า 3.8 ล้านบาท

ต้นไม้

และยังขยายผลการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ โดยสนับสนุนการปลูกป่าเพิ่มในที่ดินของตนเองและชุมชน ปีละประมาณ 108,000 ต้น ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อ - ขายได้กว่า 510,000 ตันคาร์บอน ภายใน 5 ปี การส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะกล้าไม้ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ  

การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดพื้นที่การเผาตอซังข้าว อ้อย และข้าวโพด เพื่อลด PM 2.5 การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน การนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้ให้กับชุมชนทั้งทางตรง และทางอ้อม อย่าง การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตน้ำส้มควันไม้ ปลูกสมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 

 

โครงการ BAAC Carbon Credit

สำหรับโครงการ BAAC Carbon Credit เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการทำให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้ ซึ่งนอกจากหน่วยงานจะได้รับประโยชน์ในด้านธุรกิจ ที่มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุน และให้กำลังใจชุมชนในการดูแล และปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการปกป้องโดยคนในชุมชน สะท้อนถึงความเข้มแข็งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกอีกด้วย และสำหรับหน่วยงานที่สนใจในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ และสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับชุมชน และมีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้นทั้งปัจจุบัน และอนาคต  

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์