ทำไม ‘มังเกอร์’ อยู่ ‘บ้านหลังเดิม’ มา 70 ปี ทั้งที่มั่งคั่งกว่า 90,000 ล้านบาท

ทำไม ‘มังเกอร์’ อยู่ ‘บ้านหลังเดิม’ มา 70 ปี ทั้งที่มั่งคั่งกว่า 90,000 ล้านบาท

เปิดแนวคิดการใช้ชีวิต ทำไมปู่ “ชาร์ลี มังเกอร์” ถึงเลือกอยู่บ้านเดิมมาตลอด 70 ปี ทั้งที่รวยกว่า 90,000 ล้านบาทจนสามารถซื้อบ้านใหม่ได้หลายหลังตลอดทั้งชีวิต

Key Points

  • ปู่มังเกอร์แนะนำว่า ในแต่ละเดือนที่เงินเดือนออก ควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับบัญชีการลงทุน เพื่อให้เงินส่วนนี้ทบต้นและออกดอกออกผลไปเรื่อย ๆ
  • บัฟเฟตต์ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณเหมือนกัน โดยเขาเคยซื้อบ้านที่เมืองโอมาฮาในปี 2501 ด้วยราคาราว 1 ล้านบาท ตอนนี้เวลาผ่านไป 65 ปีแล้ว บัฟเฟตต์ก็ยังคงอยู่ที่บ้านเดิมนั้นมาตลอด
  • มังเกอร์เชื่อว่า การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต เป็น “กุญแจสำคัญ” ที่จะพาไปสู่ความสำเร็จ


ตามย้อนศึกษามรดกข้อคิดจาก “ชาร์ลี มังเกอร์” (Charlie Munger) นักลงทุนอาวุโสชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ และเป็นผู้ที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนระดับตำนานไว้วางใจอย่างยิ่ง โดยก่อนปู่มังเกอร์เสียชีวิต เขาให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว CNBC เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 กับคำถามที่ว่า ทำไมปู่มังเกอร์ถึงอาศัยอยู่ใน “บ้านหลังเดิม” มาตลอดนาน 70 ปี ทั้งที่มีความมั่งคั่งสูงถึง 2,600 ล้านดอลลาร์หรือราว 90,000 ล้านบาท

ปู่ตอบว่า “ผมกับบัฟเฟตต์ เห็นเพื่อนรวยหลายคนสร้างบ้านอันหรูหราใหญ่โต จริง ๆ แล้ว พวกบ้านเหล่านี้ไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้น แต่กลับทำให้มีความสุขน้อยลง”

มังเกอร์กล่าวต่อว่า “บ้านที่หรูหรา มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มากกว่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แม้จะรองรับคนมากขึ้นได้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้การันตีว่า จะทำให้คนในบ้านมีความสุขมากขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มตามมาในการดูแลบ้าน”

ทำไม ‘มังเกอร์’ อยู่ ‘บ้านหลังเดิม’ มา 70 ปี ทั้งที่มั่งคั่งกว่า 90,000 ล้านบาท - ชาร์ลี มังเกอร์ (เครดิต: Reuters) -

  • บ้านโอ่อ่าอาจสร้างนิสัยฟุ้งเฟ้อในตัวเด็กได้

อีกประการหนึ่ง คือ ปู่มองว่า บ้านอันโอ่อ่าอาจทำให้เด็กในบ้านใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อตามได้ กลายเป็นไม่ตระหนักถึงคุณค่าของเงินมากพอ โดยปู่เคยผ่านการแต่งงานมา 2 ครั้ง จนมีลูกทั้งหมด 9 คน และเคยสูญเสียลูกชายไปกับโรคลูคีเมียหรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

“อันที่จริงผมกับบัฟเฟตต์ก็เคยคิดอยู่ว่า อยากจะมีบ้านที่ใหญ่ขึ้นและหรูหรายิ่งกว่านี้ เพราะผมมีลูกหลายคน จึงเป็นเรื่องสมเหตุผลที่จะมีบ้านหลังใหญ่ขึ้น แต่เมื่อคิดกลับไปกลับมา ผมไม่อยากใช้ชีวิตเหมือนดยุกแห่งเวสต์เชสเตอร์  (Duke of Westchester) ที่ดูโอ่อ่าไฮโซ อีกทั้งไม่คิดว่าความฟู่ฟ่านี้จะดีกับพวกเด็ก ๆ ด้วย” มังเกอร์เผย

  • บัฟเฟตต์ เพื่อนรักก็อยู่อย่างประหยัดเช่นกัน

มังเกอร์ยังเอ่ยถึงบัฟเฟตต์ เพื่อนสนิทของเขาว่า บัฟเฟตต์ก็ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณเหมือนกัน โดยเขาเคยซื้อบ้านที่เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกาในปี 2501 ด้วยราคา 31,500 ดอลลาร์หรือราว 1 ล้านบาท ตอนนี้เวลาผ่านไป 65 ปีแล้ว บัฟเฟตต์ก็ยังคงอยู่ที่บ้านหลังเดิมนั้นมาตลอด แม้เขาจะมีความมั่งคั่งสูงถึง 118,900 ล้านดอลลาร์หรือราว 4 ล้านล้านบาทก็ตาม

นอกจากนี้ บัฟเฟตต์เคยกล่าวในงานประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทด้านการลงทุน Berkshire Hathaway ว่า การมีบ้าน 6 หรือ 8 หลังอาจทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้

ตลอดชีวิตของมังเกอร์ที่ผ่านมา เขามักจะให้ข้อคิดการอยู่อย่างพอประมาณ ไม่ใช้จ่ายเงินเกินรายได้ และควรจัดการอารมณ์อิจฉาให้ลดน้อยลง

ปู่แนะนำว่า ในแต่ละเดือนที่เงินเดือนออก ควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับบัญชีการลงทุน เพื่อให้เงินส่วนนี้ทบต้นและออกดอกออกผลไปเรื่อย ๆ โดยมังเกอร์เชื่อว่า การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต เป็น “กุญแจสำคัญ” ที่จะพาไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งปู่ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ฉลาดที่สุดหรือขยันที่สุด แต่เป็นคนที่ทำอย่างต่อเนื่องและเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ

  • ลงทุนเน้น “คุณค่า” มากกว่า “กระแส”

นอกจากเป็นเพื่อนสนิทกับบัฟเฟตต์แล้ว มังเกอร์ยังเหมือนเป็นที่ปรึกษาขั้นเทพที่คอยช่วยบัฟเฟตต์คัดเลือกหุ้นน่าลงทุน โดยยึดแนวคิด “การลงทุนเน้นคุณค่าพยายามมองหาธุรกิจที่ดี แต่กลับมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ปู่ก็จะเข้าซื้อหุ้นตัวนั้น และยิ่งหากแน่ใจว่า ราคาที่จะซื้อนี้อยู่ในจุดที่ได้เปรียบ ปู่จะยิ่งลงทุนเพิ่ม แม้การตัดสินใจนี้จะสวนกระแสคนส่วนใหญ่ก็ตาม

ในช่วงปี 2538-2543 เกิดธุรกิจเทคโนโลยีใหม่จำนวนมากที่ชื่อว่า อินเทอร์เน็ต, อีคอมเมิร์ซ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัลอันน่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะ “อินเทอร์เน็ต” ที่กำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนในช่วงนั้นไปอย่างสิ้นเชิง

ถึงกระนั้นก็ตาม ความใหม่ของธุรกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปู่เข้าใจยาก จึงหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มเหล่านี้ แต่เลือกลงทุนหุ้นกลุ่มประกัน ทางรถไฟ และค้าปลีกแทน 

ผลปรากฏว่าในปี 2543 หุ้นเทคโนโลยีเหล่านี้ประสบวิกฤติฟองสบู่แตก ที่เรียกว่า “วิกฤติฟองสบู่ดอทคอม” มีบริษัทเทคโนโลยีส่วนน้อยเท่านั้นที่อยู่รอดและยิ่งใหญ่จนถึงปัจจุบัน ขณะที่ส่วนใหญ่ไปไม่รอดและต้องปิดกิจการ นับเป็นโชคดีที่ปู่มังเกอร์รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนั้น และสะสมความมั่งคั่งไปเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันก่อนที่ปู่จะเสียชีวิต เขามีความมั่งคั่งสูงถึงราว 90,000 ล้านบาท เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นแนวคิดการใช้ชีวิตของนักลงทุนระดับตำนาน “ชาร์ลี มังเกอร์” วัย 99 ปี ที่โลกจะไม่มีวันลืม

อ้างอิง: cnbcsmallcap