เปิด 5 ข้อคิด ‘ชาร์ลี มังเกอร์’ ลงทุนอย่างไรให้สำเร็จ

เปิด 5 ข้อคิด ‘ชาร์ลี มังเกอร์’ ลงทุนอย่างไรให้สำเร็จ

เผย 5 ข้อคิดสำคัญอันทรงคุณค่าของนักลงทุนระดับตำนานผู้ล่วงลับ “ชาร์ลี มังเกอร์” ถึงวิธีลงทุนและใช้ชีวิตอย่างไรให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขถึงบั้นปลายชีวิต

Key Points

  • มังเกอร์กล่าวว่า บทเรียนดีที่สุด คือ เอาคนแย่ออกจากชีวิตให้เร็วที่สุด และพยายามหลีกเลี่ยงการสมาคมกับคนเหล่านี้
  • การจดบันทึกรายการสิ่งที่จะทำเป็นประจำจะช่วยหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจำนวนมาก
  • เหตุการณ์อนาคตไม่เป็นเส้นตรง อาจเกิดข่าวร้ายมากมาย ที่ทำให้ราคาหุ้นโดยรวมร่วงแรงได้ แต่ตราบได้ที่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้กระทบต่อการประกอบธุรกิจ ก็ควรถือคอยเพื่อรอเค้กก้อนใหญ่


ชาร์ลี มังเกอร์” นักลงทุนอาวุโสชาวอเมริกันเป็นผู้ที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนระดับตำนานเหมือนกันไว้วางใจอย่างยิ่ง จนทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน อีกทั้ง Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิงด้านการลงทุนชื่อดัง มีบัฟเฟตต์ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท และมังเกอร์เป็นรองประธาน เรียกได้ว่า ทั้งสองเป็นมหามิตรที่คอยเกื้อหนุนในการทำงานซึ่งกันและกัน จนกระทั่งทั้งสองเข้าสู่ช่วงวัย 90 ปี ก่อนที่มังเกอร์จะอำลาโลกนี้ไปในวัย 99 ปี เมื่อวันอังคารที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา

เปิด 5 ข้อคิด ‘ชาร์ลี มังเกอร์’ ลงทุนอย่างไรให้สำเร็จ - ชาร์ลี มังเกอร์ (เครดิต: Reuters) -

ถึงแม้ตัวจะจากไปแล้ว แต่ช่วงที่มังเกอร์มีชีวิตอยู่ เขาได้ทิ้งข้อคิดด้านการเงิน การลงทุนและการใช้ชีวิตที่ทรงคุณประโยชน์หลายประการไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ดังต่อไปนี้

1. ความทรงพลังของเช็กลิสต์

มังเกอร์สนับสนุน “การทำเช็กลิสต์” หรือจดบันทึกรายการสิ่งที่จะทำ เพื่อเพิ่มการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมังเกอร์เคยกล่าวสุนทรพจน์ในมหาวิทยาลัย Southern California ว่า “การลิสต์รายการเป็นประจำจะช่วยหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจำนวนมาก”

มังเกอร์ชี้ต่อว่า การพึ่งแต่ทางแก้เดียว อาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทางแก้ที่ดีควรมีเครื่องมือที่หลากหลายและใช้อย่างบูรณาการ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องลิสต์เป็นรายการ เพราะอาศัยเพียงความจำอย่างเดียว มนุษย์อาจหลงลืมทางแก้ที่สำคัญไป แต่หากทำเป็นรายประเด็นแล้ว ก็จะพบคำตอบจำนวนมาก

2. เอาคนที่เป็นพิษ (Toxic) ออกจากชีวิตให้เร็วที่สุด

คนที่เป็นพิษ (Toxic) หรือคนที่แสดงพฤติกรรมเชิงลบต่อคนใกล้ตัว ถือเป็นปัจจัยขัดขวางความสำเร็จในชีวิต มังเกอร์กล่าวว่า บทเรียนดีที่สุด คือ เอาคนแย่ ๆ แบบนี้ออกจากชีวิตให้เร็วที่สุด และพยายามหลีกเลี่ยงการสมาคมกับคนเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามคบเพื่อนดี ๆ เพื่อส่งเสริมให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน

บัฟเฟตต์เคยให้สัมภาษณ์กับช่อง CNBC เมื่อปี 2564 ว่า คบกับคนที่ควรคบด้วย ถ้าคบกับคนไม่ดีก็จะก่อให้เกิดปัญหา

“เราทั้งสอง ผมกับมังเกอร์มีแนวทางเช่นนี้เหมือนกัน” บัฟเฟตต์เผย

ตัวอย่างความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างมังเกอร์กับบัฟเฟตต์นี้ยังสะท้อนเป็นข้อคิดว่า เมื่อคนเก่งทั้งสองได้คบเป็นเพื่อนกันและเกื้อกูลกัน ก็ทำให้ Berkshire Hathaway ขึ้นมายิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

3. เลือกซื้อหุ้น ควรยึดหลัก 4 ข้อ

เมื่อปี 2555 มังเกอร์เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ถึงหลักการซื้อหุ้น 4 ข้อดังนี้

  • 1) ลงทุนธุรกิจที่เราเข้าใจ

โลกทุกวันนี้มีกระแสน่าตื่นตาตื่นใจมากมาย ถ้าไม่รีบลงทุนอาจตกขบวนได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI), รถยนต์ไร้คนขับ, บล็อกเชน, ธุรกิจตัดต่อยีนข้ามสายพันธุ์ ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้แม้แปลกใหม่ก็จริง แต่ก็มาพร้อมความซับซ้อนสูง หากลงทุนตามกระแสโดยที่ไม่มีความเข้าใจมากเพียงพอ ก็อาจทำให้ขาดทุนหนักได้ เพราะไม่ว่าธุรกิจใดก็ย่อมมี “ขาขึ้น” และ “ขาลง” มีอุปสรรคเฉพาะทางที่อาจทำให้ภาพอนาคตอันวาดฝันไว้ ผิดคาดได้ ดังนั้น การเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงจึงเป็นสิ่งสำคัญ

  • 2) ลงทุนธุรกิจที่ได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

โลกทุกวันนี้แข่งขันกันสูงมาก หลายบริษัทต่างผลิตสินค้าที่มีลูกเล่นและลักษณะคล้ายกันออกมาแข่ง ถ้าสินค้าเราแทบไม่มีความแตกต่าง ท้ายที่สุดจะจบลงด้วยการแข่งขันด้านราคา ซึ่งมังเกอร์มองว่า ธุรกิจเช่นนี้ถือว่า “ไม่มีป้อมปราการที่ดี” มีโอกาสถูกบริษัทยักษ์ใหญ่กว่ากลืน เขาจึงพยายามคัดเลือกบริษัทที่แข็งแกร่ง ที่ไม่ต้องลดราคาตามก็สามารถแข่งขันได้ นั่นจึงเป็นธุรกิจที่ใช้คุณภาพเข้าสู้ มีเครือข่ายที่กว้างขวาง และมีแบรนด์อันแข็งแกร่ง ธุรกิจที่ว่านี้ คือ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนที่ยังอยู่รอดจากการแข่งขัน EV จีนอันดุเดือด

  • 3) เลือกผู้บริหารที่มีความสามารถและธรรมาภิบาล

“ธรรมาภิบาลและความสามารถ” เป็นประเด็นสำคัญ เพราะบริษัทจะรุ่งเรือง สิ่งที่อาจสำคัญมากกว่าสินค้าคือ “ผู้บริหาร” เพราะเป็นผู้กำหนดทิศทางบริษัทและดูแลภาพรวมของสินค้า ตลาดหุ้นไทยเคยประสบบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาลมาก่อนแล้ว ล่าสุด คือ กรณี “Stark” บริษัทผลิตสายไฟและสายเคเบิ้ลที่เกิดการทุจริตภายในองค์กร จนทำให้เหล่าผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมากขาดทุนอย่างมหาศาล

  • 4) ซื้อหุ้นบริษัทในราคาสมเหตุผลและมีส่วนเผื่อความปลอดภัย

ต่อให้บริษัทนั้นจะดีเลิศเพียงใด แต่ถ้าซื้อในราคาสูงเกินไป ก็ยากที่จะทำกำไรจากบริษัทที่ดีนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่มังเกอร์จะซื้อหุ้นใดก็ตาม นอกจากเป็นหุ้นบริษัทดีและเขาเข้าใจธุรกิจแล้ว ราคาหุ้นก็ควรสมเหตุสมผล และมีส่วนเผื่อความปลอดภัยด้วย ซึ่งถือเป็นราคาส่วนลดของหุ้น เพื่อเผื่อกรณีเกิดวิกฤติทางการเงินหรือผลประกอบการบริษัทพลิกผันผิดคาด

4. เมื่อรู้ว่าอยู่ในจุดได้เปรียบ ยิ่งต้องลงทุนเพิ่ม

ข้อนี้อาจคล้ายกับวลีบัฟเฟตต์ที่เคยกล่าวว่า “จงกลัวเมื่อคนอื่นกล้า และจงกล้าเมื่อคนอื่นกลัว” นั่นคือ เมื่อโอกาสซื้อหุ้นถูกเกิดขึ้นไม่มาก หากเกิดวิกฤติใดก็ตามที่ไม่กระทบต่อธุรกิจนั้น หรือหากกระทบจริง ธุรกิจดังกล่าวก็ฟื้นกลับมาได้ นี่คือโอกาสสำหรับการทุ่มเงินซื้อ ยิ่งช่วงเกิดวิกฤติ ส่วนลดของหุ้นก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย และทำให้มีผลตอบแทนที่คาดหวังสูงมากกว่าช่วงปกติ แต่ทั้งนี้ควรทำแผนบริหารความเสี่ยงควบคู่ไปกับการกระจายการลงทุน

5. เงินก้อนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ “ซื้อขาย” แต่อยู่ที่ “การรอคอย”

มังเกอร์ไม่ใช่นักเล่นหุ้นที่ซื้อ ๆ ขาย ๆ หลายครั้ง แต่ยึด “พื้นฐานของธุรกิจ” เป็นหลัก ยิ่งเขามีพอร์ตหุ้นใหญ่ การซื้อ ๆ ขาย ๆ ตามอารมณ์ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสขาดทุนสูงขึ้น

มังเกอร์มองว่า เหตุการณ์อนาคตไม่เป็นเส้นตรง ถึงแม้ในระยะสั้น ราคาหุ้นมีความผันผวน แต่ในระยะยาว ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวตามผลประกอบการ ดังนั้น ในระหว่างที่บริษัทกำลังเติบโต อาจเกิดข่าวร้ายมากมาย เช่น เครื่องบินชนตึก การก่อวินาศกรรม สงคราม ฯลฯ ที่ทำให้ราคาหุ้นของแต่ละอุตสาหกรรมโดยรวมร่วงแรงได้ แต่ตราบได้ที่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้กระทบต่อการประกอบธุรกิจ ไม่ได้ทำให้พื้นฐานเปลี่ยนไป ก็ควรถือคอยเพื่อรอเค้กก้อนใหญ่

อ้างอิง: wealestbusiness